บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2016 ที่บราซิล ได้พัฒนาและติดตั้งระบบเครือข่ายของเซิร์ฟเวอร์สคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ต่างๆ ก่อนหน้าการเริ่มต้นของการแข่งขันในเดือนสิงหาคมที่จะมาถึง
การแข่งขันกีฬาหลายประเภทที่ไม่สำคัญนัก อย่าง มวยปล้ำหญิง ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถทดสอบการทำงานของเครื่องมือและอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ต่างๆ ในระบบไอทีของศูนย์ได้
เป้าหมายคือการรายงานผลการเเข่งขันอย่างทันทีทันใดจากสนามแข่งขัน 144 สนาม การช่วยเหลือให้ผู้เเข่งขันและกรรมการยุติข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างการเเข่งขัน และช่วยให้แฟนกีฬาทั่วโลกเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการแข่งขันต่างๆ ได้
คุณ Gustavo Nascimento ผู้จัดการด้านการออกแบบสนามแข่งขันกล่าวว่าในขณะนี้ทางศูนย์ไอทีมีงานทดสอบระบบต้องทำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบห้องแล็ป การทดสอบการติดตั้งเครือข่ายสายเคเบิลใยแก้วที่เป็นตัวส่งข้อมูลไปและกลับจากห้องแล็ปต่างๆ
เครือข่ายนี้มีกล้องถ่ายภาพจำนวนมากที่ทำงานพร้อมๆ กัน และเชื่อมโยงเข้ากับฐานความจำในศูนย์ Technical Operations Center แห่งนี้ด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ตระบบเคเบิลใยแก้วความเร็วสูง โดยมีเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคจำนวน 500 คนทำงานเป็นประจำกว่า 180 ตำเเหน่ง
เจ้าหน้าที่เหล่านี้จำนวนมากจะดูแลด้านความปลอดภัยของหน้าเว็ปไซท์ทางการหลักๆ ของการเเข่งขัน
คุณ Adam Dolman ผู้จัดการฝ่ายดำเนินการทางเทคนิคกล่าวว่า ศูนย์ไอทีตกเป็นเป้าของการจารกรรมทางอินเทอร์เน็ตหลากหลายประเภทอยู่ตลอดเวลา จึงต้องมีทีมงานคอยเฝ้าระวังเพื่อให้มั่นใจว่า จะไม่เกิดปัญหาใดๆกับระบบไอทีของศูนย์และมีความปลอดภัยและมั่นคงต่อการใช้งาน
ปีนี้เป็นครั้งเเรกที่ระบบไอทีทั้งระบบใช้การจัดเก็บข้อมูลแบบ cloud เป็นหลัก ซึ่งหมายความว่าหากคอมพิวเตอร์ตัวใดตัวหนึ่งมีปัญหาและต้องปิดไป จะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานและความเร็วของระบบแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังมีระบบที่ใช้เป็นเกราะคุ้มกันอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือศูนย์ Technical Technology Operations Center ในสเปน เป็นตัวหนุนอยู่
แฟนกีฬาทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของการแข่งขันที่ครั้งหนึ่งเคยมีให้เฉพาะสื่อมวลชนที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
คุณ Adam Dolman กล่าวว่าเพียงเเค่ในเสี้ยววินาที คนทั่วไปสามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับการเเข่งขันต่างๆ ได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ไม่เพียงเเค่ข้อมูลเกี่ยวกับผลการแข่งขันว่าใครชนะ เเต่ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของนักกีฬาเหล่านั้นด้วย
ทีมเจ้าหน้าที่ด้าน IT กล่าวว่าในเดือนสิงหาคมที่จะมาถึงนี้ ทางศูนย์ข้อมูลข่าวสารทางอินเตอร์เน็ตของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2016 ก็จะพร้อมในการให้บริการแก่แฟนกีฬาถึง 4 พันแปดร้อยล้านคนทั่วโลกอย่างแน่นอน
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)