นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน เปิดเผยในวันอาทิตย์ว่า อังกฤษจะดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ “ที่รุนแรงที่สุดเท่าที่จะทำได้” ต่อรัสเซีย หากเครมลินทำการรุกยูเครนขึ้นมา ขณะที่ ผู้นำฝรั่งเศสและรัสเซียเดินหน้าหารือเพื่อยุติความขัดแย้งที่ส่อยกระดับขึ้น
นายกรัฐมนตรี จอห์นสัน กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว บีบีซี ว่า มาตรการลงโทษที่อังกฤษพิจารณาอยู่นั้น ไม่ได้เพียงแต่พุ่งเป้าไปยัง ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน และเพื่อนพ้องเท่านั้น “แต่ยังรวมถึงบรรดาบริษัทและองค์กรต่างๆ ที่มีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ต่อรัสเซีย” ด้วย
ผู้นำอังกฤษยังกล่าวด้วยว่า “เราจะหยุดไม่ให้บริษัทรัสเซียระดมเงินทุนในตลาดอังกฤษ และเราจะร่วมกับเพื่อนชาวอเมริกันในการระงับการทำการค้าโดยใช้สกุลเงินปอนด์และดอลลาร์ด้วย”
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาคร็อง และปธน.ปูติน ทำการสนทนาทางโทรศัพท์กันในช่วงเช้าวันอาทิตย์ โดยทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสเปิดเผยว่า เป็น “ความพยายามอันจำเป็นและหวังว่าจะเป็นการหาบทสรุปเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งรุนแรงในยูเครน”
เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ผู้นำทั้งสองได้นั่งหารือกันซึ่งๆ หน้าที่กรุงมอสโกมาแล้ว โดยปธน.มาคร็อง พยายามโน้มนาวให้ปธน.ปูติน ไม่สั่งกองทัพบุกยูเครน
ขณะเดียวกัน ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ให้สัมภาษณ์กับสื่อ เดอะ เดลี่ เมล์ ในวันอาทิตยว่า “เราต้องหยุดปูติน เพราะเขาจะไม่ยอมหยุดอยู่แค่ที่ยูเครน” และระบุว่า ผู้นำรัสเซียเคยบอกต่อสาธารณะว่า ต้องการจะสร้างรัสเซียที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ และจะพยายามทำให้สถานการณ์ทุกอย่างกลับไปเป็นเหมือนก่อน ที่รัสเซียมีอำนาจควบคุมพื้นที่ขนาดใหญ่ในยุโรปตะวันออก
ส่วน เออร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า “แนวความคิดสุดอันตรายของเครมลิน ซึ่งเหมือนภาพของอดีตอันมืดมนนี้ อาจทำให้อนาคตอันอาจรุ่งเรืองของรัสเซียมีปัญหาได้” และว่า หากรัฐบาลกรุงมอสโกสั่งบุกยูเครนจริง รัสเซียจะมีปัญหาการเข้าถึงตลาดการเงินและสินค้าเทคโนโลยีต่างๆ อย่างแน่นอน
มีรายงานข่าวด้วยว่า ออสเตรีย ฝรั่งเศส และเยอรมนี คือประเทศล่าสุดที่ออกคำแนะนำให้พลเมืองของตนที่อยู่ในยูเครน เดินทางออกจากประเทศนั้นเสีย และสายการบิน ลุฟท์ฮันซ่า ของเยอรมนีได้สั่งยกเลิกเที่ยวบินที่เชื่อมต่อกับกรุงเคียฟและนครโอเดสซา ซึ่งเป็นเมืองท่าติดทะเลดำ เรียบร้อยแล้ว
- ข้อมูลบางส่วนมาจาก เอพี รอยเตอร์และเอเอฟพี