รัฐบาลตุรกีออกประกาศห้ามการใช้บิตคอยน์ สกุลเงินดิจิทัลอันดับหนึ่งของโลก เพื่อการชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ หลังสถานการณ์ปั่นป่วนทางเศรษฐกิจผลักดันในประชาชนนำเงินสกุลลีราของประเทศไปแลกเป็นสกุลเงินดิจิทัลนี้และสกุลเงินต่างประเทศอื่นๆ
สำนักข่าว รอยเตอร์ส รายงานว่า ธนาคารกลางตุรกี ระบุในประกาศล่าสุดที่ออกมาในวันศุกร์ ห้ามไม่ให้มีการใช้ สกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี รวมทั้งสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ที่มีตัวตนและซื้อขายผ่านเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูล เพื่อการชำระค่าสินค้าหรือบริกาใดๆ ไม่ว่าจะโดยทางตรง หรือทางอ้อมก็ตาม
นอกจากนั้น ธนาคารกลางตุรกีประกาศด้วยว่า สกุลเงินดิจิทัลทั้งหลายมีความผันผวนสูงมาก และอาจนำใช้ในกิจกรรมที่ผิดกฎหมายได้ พร้อมระบุว่า สินทรัพย์คริปโตนั้น เป็นสินทรัพย์ประเภทที่ “ไม่จำเป็นต้องถูกตรวจสอบภายใต้กฎระเบียบหรือการควบคุมใดๆ หรือแม้แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกลางใดๆ ด้วย”
ทั้งนี้ สกุลเงินดิจิทัล เช่น บิตคอยน์ ที่อยู่เหนือการควบคุมของหน่วยงานอย่าง ธนาคารกลาง ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อสกุลเงินที่ออกโดยรัฐบาลแต่ละประเทศ ทำให้หลายแห่งดำเนินการมาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมสกุลเงินดังกล่าวแล้ว เช่นในกรณีของจีนที่สั่งห้ามการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2017 และแผนงานของรัฐบาลอินเดียที่จะออกคำสั่งห้ามแบบเดียวกัน พร้อมด้วยการคาดโทษสั่งปรับสำหรับผู้ที่ทำการซื้อขายสินทรัพย์ประเภทนี้ ตามรายงานของ รอยเตอร์ส
รายงานข่าวระบุว่า บิตคอยน์ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาในตุรกี หลังการอ่อนค่าเงินลีราอย่างรวดเร็ว เมื่อประธานาธิบดี เรจิบ เทยิบ เออโดวาน ไล่ผู้ว่าการธนาคารกลางออกอย่างกะทันหันในเดือนมีนาคม
การประกาศห้ามใช้สกุลเงินดิจิทัลเพื่อการชำระใดๆ นี้เกิดขึ้นหลังบริษัท Royal Motors ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์โรลส์รอยซ์ และรถยนต์ โลตัส ในตุรกี ประกาศตนเป็นธุรกิจแห่งแรกที่ยอมรับการชำระเงินในรูปแบบของคริปโตเคอร์เรนซี เมื่อต้นสัปดาห์
นับตั้งแต่ต้นปีมา มูลค่าของบิตคอยน์ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า เมื่อคำนวณตามค่าเงินดอลลาร์ และพุ่งสูงกว่านั้นเมื่อคำนวณเป็นค่าเงินลีรา และรายงานค่าเงินจาก CoinDesk ในวันศุกร์ชี้ว่า 1 บิตคอยน์ มีค่าเกือบ ครึ่งล้านลีรา เทียบกับระดับ 215,000 ลีราเมื่อช่วงต้นปี
เท่าที่ผ่านมา ทางการตุรกีพยายามสำรองเงินในรูปแบบของทองคำ เงินสกุลดอลลาร์และยูโร ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศประสบภาวะย่ำแย่ โดยปธน.เออโดวาน พยายามเรียกร้องให้ประชาชนลงทุนทองคำและการออมทรัพย์ในรูปแบบของเงินตราต่างประเทศ เพื่อพยุงเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด
เดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า มีผู้ใช้ถือสกุลเงินดิจิทัลในตุรกีราว 2.4 ล้านคน ในปีที่ผ่านมา โดยบิตคอยน์คือตัวที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ตามข้อมูลจากทางการตุรกี