เมื่อวันศุกร์ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ จัดการประชุมออนไลน์ร่วมกับผู้นำหกประเทศ และผู้นำองค์กรระหว่างประเทศอีกสามแห่ง โดยย้ำว่าการเร่งแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศของโลกไม่ใช่แค่เรื่องเร่งด่วนเท่านั้น แต่ยังต้องทำเพื่อประโยชน์ของเศรษฐกิจโลกด้วย
การประชุมครั้งนี้มีขึ้นหกสัปดาห์ก่อนการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นการประชุมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความพยายามในการรับมือกับปัญหาดังกล่าวในระดับโลก
ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวกับผู้นำของอาร์เจนตินา บังกลาเทศ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ เม็กซิโก และอังกฤษว่า ถึงแม้วิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศจะเป็นภัยที่คุกคามต่อการดำรงคงอยู่ของชีวิตบนโลกก็ตาม แต่เรื่องดังกล่าวก็เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจในการสร้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลกได้ด้วย
ทั้งนี้ หนึ่งในภารกิจแรกของ ปธน. ไบเดน หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งคือการนำสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมข้อตกลงกรุงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนสหรัฐฯ จากข้อตกลงนี้ โดยให้เหตุผลว่าเป็น “ข้อตกลงที่ไม่ดี” ต่อประเทศ
ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และตั้งเป้าเพื่อจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งข้อตกลงนี้จะทำให้สหรัฐฯ และจีนต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก ในฐานะที่เป็นสองประเทศที่ปล่อยก๊าซดังกล่าวมากที่สุด
การที่สหรัฐฯ จะปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวได้นั้นจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50-52 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับระดับของเมื่อปีค.ศ. 2005 ให้ได้ภายในปีค.ศ. 2030 หรืออีก 9 ปีต่อจากนี้ ซึ่งอาจต้องเปลี่ยนการใช้แหล่งพลังงานดั้งเดิมอย่างถ่านหิน มาเป็นแหล่งพลังงานสีเขียว เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมแทน
เมื่อวันศุกร์ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวในแถลงการณ์โดยอ้างรายงานของกรอบอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกกำลังจะสูงขึ้น 2.7 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าที่ต้องการลดอุณหภูมิโลกลง 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงกรุงปารีสที่ประเทศต่างๆ ได้ลงนามเมื่อหกปีที่แล้ว และการที่ประเทศต่างๆ ไม่สามารถลดอุณหภูมิตามเป้าได้นี้จะส่งผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมาก
นายกูเตอร์เรสยังระบุด้วยว่า ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ เนื่องจากก๊าซเรือนกระจก 80 เปอร์เซ็นต์ถูกปล่อยโดยประเทศที่ร่ำรวยที่สุด 20 ประเทศของโลก เขายังเรียกร้องให้ทุกประเทศตั้งเป้าที่สูงขึ้นเพื่อลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และขอให้ประเทศพัฒนาแล้วให้เงินช่วยเหลือ 1 แสนล้านดอลลาร์เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนารับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วย
อย่างไรก็ตาม จีนซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้แต่อย่างใด
นายนิคอส ซาฟอส นักวิเคราะห์ด้านพลังงานและภูมิรัฐศาสตร์ของศูนย์ Center for Strategic and International Studies ในกรุงวอชิงตัน ระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนในประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้นมีความซับซ้อน และยากที่จะแยกออกจากประเด็นความขัดแย้งอื่นๆ ระหว่างทั้งสองประเทศได้ นอกจากนี้ จีนยังพยายามแสดงตนว่าเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม และไม่อยากทำอะไรที่อาจดูป็นการโอนอ่อนต่อแรงกดดันจากสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ผู้นี้ก็เห็นว่า จีนเริ่มเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อประเด็นนี้และมองเห็นโอกาสในการทำเงิน เช่น มีบริษัทจีนจำนวนมากเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ และจีนเองยังเป็นตลาดยานพาหนะไฟฟ้าที่ใหญ่กว่าสหรัฐฯ ด้วย
ทั้งนี้ ประเทศและองค์กรที่ร่วมลงนามในข้อตกลงกรุงปารีสทั้ง 197 ประเทศจะประชุมที่เมืองกลาสโกว์ สก็อตแลนด์ ในเดือนพฤศจิกายนนี้