ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน จะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ หรือ UNGA (U.N. General Assembly) ที่นครนิวยอร์ก ในวันพุธนี้ โดยคาดว่าผู้นำสหรัฐฯ จะเน้นย้ำถึงความพยายามของสหรัฐฯ ในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารโลก และการสนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับกองทุนเพื่อการต่อต้านโรคเอดส์และโรคระบาดอื่น ๆ
ริชาร์ด โกวาน ผู้อำนวยการองค์กร International Crisis Group ของสหประชาชาติ กล่าวกับวีโอเอว่า "สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรพยายามโน้มน้าวประเทศอื่นว่า นอกจากจะให้ความสำคัญอย่างมากต่อสถานการณ์สงครามในยูเครนแล้ว สหรัฐฯ และชาติตะวันตกยังกังวลต่อวิกฤติอาหารโลกที่ส่งผลกระทบต่อการถดถอยของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งสิ่งที่เกิดกับประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ "
โกวาน กล่าวด้วยว่า ในช่วงเริ่มต้นของสงครามยูเครน นักการทูตของชาติตะวันตกต่างพยายามโน้มน้าวให้ประเทศในแอฟริกาและเอเชียให้การสนับสนุนยูเครนโดยมิได้คำนึงถึงความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจที่ประเทศเหล่านั้นเผชิญ ซึ่งขณะนี้สหรัฐฯ และชาติตะวันตกกำลังหันมาทำเรื่องนี้ด้วยการแก้ปัญหาดังกล่าว
นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครน การส่งออกอาหารและปุ๋ยจากพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้งนั้นลดลงอย่างมาก ทำให้ราคาอาหารโลกปรับตัวสูงยิ่งขึ้น ประชาชนราว 828 ล้านคนเข้าสู่ภาวะอดอยากหิวโหย อ้างอิงจากรายงานของโครงการอาหารโลก (World Food Program)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน จะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดด้านความมั่นคงทางอาหารในวันอังคารนี้ และในวันพุธ ประธานาธิบดีไบเดนจะเป็นเจ้าภาพการประชุมกองทุนโลกเพื่อต่อสู้โรคเอดส์ วัณโรคและมาเลเรีย โดยสหรัฐฯ ได้มอบเงินช่วยเหลือสำหรับโครงการในส่วนนี้ไปแล้ว 2,000 ล้านดอลลาร์จากที่รับปากไว้แล้ว 6,000 ล้านดอลลาร์
ขณะเดียวกัน คาดว่าสหรัฐฯ จะเดินหน้าในความพยายามปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งนี้ โดยโกวาน แห่ง International Crisis Group เชื่อว่า แม้สหรัฐฯ ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคง แต่เนื่องจากการรุกรานของรัสเซียในยูเครน บรรดานักการทูตที่ยูเอ็นต่างตั้งคำถามถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งทางสหรัฐฯ ก็ตอบสนองด้วยด้วยการชูประเด็นเรื่องการปฏิรูปขึ้นมาในช่วงที่กำลังเกิดความขัดแย้งนี้
โกวาน ยังเชื่อด้วยว่า รัฐบาลไบเดนสามารถผลักจีนและรัสเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง ให้เข้าสู่มุมอับ ด้วยการระบุถึงความลังเลของสองประเทศนี้ในการปฏิรูปคณะมนตรีเนื่องจากต้องการรักษาอำนาจการใช้สิทธิวีโต้ในกรณีสำคัญต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบถึงความมั่นคงของโลก
ทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ ชี้ว่า นับตั้งแต่ปี 2009 รัสเซียได้ใช้สิทธิวีโต้ไปแล้ว 26 ครั้ง ในจำนวนนี้ 12 ครั้งใช้ร่วมกับจีน ในขณะที่สหรัฐฯ ใช้สิทธิวีโต้ไปเพียง 4 ครั้งในช่วงเดียวกัน เธอยังกล่าวด้วยว่า ปธน.ไบเดน จะปรึกษากับผู้นำคนอื่น ๆ ในการประชุมครั้งนี้เพื่อหาเสียงสนับสนุนเป็นเอกฉันท์เรื่องการเพิ่มจำนวนสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคง
ที่มา: วีโอเอ