รัฐบาลกรุงวอชิงตันชุดใหม่กำลังเดินหน้ากำหนดความชัดเจนของแผนการเจรจากับเกาหลีเหนือเรื่องเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน เปิดเผยว่าสหรัฐฯจะใช้ทั้งไม้แข็งอย่างมาตรการคว่ำบาตรและแนวทางที่เบากว่า เช่น การต่อรองทางการทูต เพื่อยับยั้งการพัฒนาขีปนาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
แต่นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่เคยทำงานในทำเนียบขาว เริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นว่าสหรัฐฯควรจะวางยุทธศาสตร์ในการต่อรองใหม่ โดยเริ่มยอมรับความจริงที่ว่าเกาหลีเหนือจะไม่ยอมถอดถอนอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด
สถาบันวิจัยของสหรัฐฯเพื่อยุทธศาสตร์ของประเทศ หรือ The Institute for National Strategic Studies ได้รายงานว่า ขณะนี้ เกาหลืเหนือมีขีปนาวุธนิวเคลียร์ประมาณ 15 ถึง 60 ลูก ซึ่งพิสัยของอาวุธบางส่วนนั้น สามารถสร้างความเสียหายข้ามทวีปถึงสหรัฐฯได้
นอกจากนี้ผู้นำเกาหลืเหนือ คิม จอง อึน ยังได้สร้างแรงกดดันระลอกใหม่ต่อสหรัฐฯ เพียงไม่กี่วันก่อนที่นายโจ ไบเดน จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯอีกด้วย โดยผู้นำเกาหลีเหนือได้แสดงแสงยานุภาพของขีปนาวุธชนิดใหม่ ผ่านการเดินขบวนสวนสนามของกองทัพ ในกรุงเปียงยาง
อดีตเจ้าหน้าที่สหรัฐฯด้านความมั่นคงต่อประเทศเกาหลีเหนือ มาร์คัส การ์โลวคัส จึงมองว่า สหรัฐฯควรประเมินความเป็นจริงของสถานการณ์ใหม่ได้แล้ว เพราะ นโยบายฉบับก่อนนั้นยึดหลักที่ผิดทั้งสองประการ คือ สหรัฐฯมีอำนาจพอที่จะโน้วน้ามให้เกาหลีเหนือล้มเลิกโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ และอีกประการหนึ่ง ที่เขาเห็นว่าอเมริกาเข้าใจผิดคือ ประเทศจีนจะมีส่วนร่วมในการช่วยเจรจากับเกาหลีเหนือให้เลิกโครงการดังกล่าว
มาร์คัส การ์โลวคัส ให้คำแนะนำด้วยว่า เป้าหมายหลักของรัฐบาลชุดไบเดนควรเป็นการสร้างความร่วมมือกับประเทศพันธมิตร เพื่อป้องกันไม่ให้เกาหลีเหนือสร้างผลกระทบต่อภูมิภาค และ ดำเนินความสัมพันธ์กับ คิม จอง อึนในด้านอื่นๆนอกจากการกดดันให้ปลดอาวุธนิวเคลียร์เพียงอย่างเดียว
หากทำสำเร็จ ผู้สันทัดกรณีหลายคนเห็นว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะช่วยแก้ปัญหาภายในเกาหลีเหนือได้และยังสามารถปรับพฤติกรรมของนายคิมต่อประเทศอื่นๆได้อีกด้วย
อดีตสมาชิกความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว วิกเตอร์ ชา เขียนบทความลงนิตยสาร Foreign Affairs ว่าสหรัฐฯควรทำสัญญาการลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือ คล้ายกับสนธิสัญญาที่สหรัฐฯทำไว้กับสหภาพโซเวียดในช่วงสงครามเย็น
ส่วน โจเซฟ ยูน อดีตนักการทูตอาวุโสและ แฟรงค์ อัม อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้กล่าวว่า สหรัฐฯ ใช้เวลากว่า 15 ปี ในการโน้มน้าวให้เกาหลีเหนือ ล้มเลิกการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างสิ้นเชิง การต่อรองระยะยาวที่ไม่เป็นผลเช่นนี้ กลับกลายเป็นการชี้จุดแข็งให้เกาหลีเหนือครอบงำอาวุธร้ายแรงต่อไป และนำมาใช้ต่อรองกับสหรัฐฯ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศตนเองเพียงฝ่ายเดียว
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายกลาโหมผู้หนึ่งได้เตือนว่า หากสหรัฐฯ ตั้งโจทย์เพื่อควมคุมศักยภาพทางอาวุธของเกาหลีเหนือ อาจเป็นการส่งสัญญาณโดยปริยายว่า เกาหลีเหนือ เป็นประเทศที่กำลังพัฒนาโครงการนิวเคลียร์
ผลที่อาจตามมาคือประเทศอื่นๆในภูมิภาค อย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น อาจจะหันไปพัฒนาอาวุธร้ายแรงดังกล่าวเพื่อป้องกันการโจมตีจากเกาหลีเหนือก็เป็นได้
ท้ายสุด ดุยอน คิม นักวิเคราะห์ด้านเกาหลีแห่งศูนย์ Center for New American Security แนะนำว่า เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงจุดที่เกาหลีเหนือได้รับผลกระทบที่หนักขึ้นจากการระบาดของโคโรนาไวรัส รัฐบาลเปียงยางอาจต้องการให้อเมริกาผ่อนปรนมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ และนั่นน่าเป็นการเปิดทางให้รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนต่อรองเรื่องโครงการนิวเคลียร์กับเกาหลีเหนือได้อย่างมีความคืบหน้า