เมื่อวันจันทร์ ประธานาธิบดีไบเดนให้คำมั่นว่าสหรัฐฯ จะยืนหยัดสนับสนุนประชาธิปไตยและขู่ว่าจะนำมาตรการลงโทษซึ่งเคยใช้กับเมียนมาในสมัยประธานาธิบดีโอบามากลับมาใช้อีกครั้ง
และเมื่อวันอังคาร กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาคือการยึดอำนาจ ถึงแม้กองทัพเมียนมาจะอ้างว่าเป็นการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญก็ตาม ซึ่งการระบุชี้ดังกล่าวนี้จะมีผลผูกพันตามกฎหมายให้วอชิงตันต้องจำกัดการให้ความช่วยเหลือต่างๆ แก่เมียนมาด้วย และนักวิเคราะห์ก็ให้ความเห็นว่ามาตรการและการตัดสินใจต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ เกี่ยวกับเมียนมาจะเป็นเครื่องทดสอบขั้นต้นสำหรับคำมั่นสัญญาของโจ ไบเดนเรื่องการให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนในแนวนโยบายต่างประเทศกับการทำงานร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศพันธมิตร
ตามกฎหมายของสหรัฐฯ นั้นเมื่อกระทรวงการต่างประเทศระบุชี้ว่ามีการทำรัฐประหารในเมียนมา ความช่วยเหลือต่างๆ จากวอชิงตันจะต้องยุติลง แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็กล่าวว่าความช่วยเหลือเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมทั้งที่ให้กับชาวมุสลิมโรฮิงญาจะยังคงดำเนินต่อไป และประธานาธิบดีไบเดนก็จะพิจารณาทบทวนมาตรการลงโทษต่างๆ ที่ใช้กับผู้นำกองทัพเมียนมารวมทั้งกับธุรกิจอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านี้ด้วย
ในช่วงของประธานาธิบดีทรัมป์นั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ใช้มาตรการลงโทษกับนายทหารระดับสูงของเมียนมาสี่นายซึ่งรวมถึงพลเอกมิน อ่อง ลาย หลังจากที่มีการประหัตประหารและผลักดันชาวมุสลิมโรฮิงญากว่า 700,000 คนให้ต้องอพยพข้ามพรมแดนเข้าไปในบังคลาเทศมาแล้ว
และสำหรับครั้งนี้นายปีเตอร์ คูซิค อดีตที่ปรึกษาของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวว่าประธานาธิบดีไบเดนสามารถออกคำสั่งผู้นำฝ่ายบริหารเพื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติเกี่ยวกับเมียนมาเพื่อมุ่งเป้าลงโทษผู้นำกองทัพได้เช่นกันโดยอาศัยกฏหมายที่ให้อำนาจทางเศรษฐกิจสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างประเทศหรือที่มีชื่อเต็มว่า International Emergency Economic Powers Act
อย่างไรก็ตามการใช้อำนาจตามกฏหมายนี้อาจจะถูกคัดค้านจากกลุ่มธุรกิจที่ต้องการให้คงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเมียนมาเอาไว้ และนักลงทุนคงจะสนับสนุนให้มีมาตรการลงโทษซึ่งมุ่งเป้าต่อผู้ก่อรัฐประหารโดยตรงรวมทั้งต่อผู้ที่คณะทหารของเมียนมาแต่งตั้งให้เข้ารับตำแหน่ง ทั้งนี้เพื่อส่งสัญญาณว่ารัฐบาลชุดใหม่ในเมียนมานั้นไม่มีความชอบธรรม
แต่ในอีกด้านหนึ่ง อดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญบางคนก็เตือนว่าวอชิงตันมีอิทธิพลอย่างจำกัดต่อผู้นำกองทัพเมียนมาที่เข้ายึดอำนาจ เพราะคนเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับธุรกิจในท้องถิ่นมากกว่าที่จะมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอยู่ในต่างประเทศซึ่งจะได้รับผลกระทบจากนโยบายลงโทษด้านการเงินจากสหรัฐฯ และคนหนึ่งซึ่งมีความเห็นในทำนองนี้คือนายเดเนียล รัสเซล อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกสมัยประธานาธิบดีโอบามา โดยนายเดเนียล รัสเซลเตือนว่าการเพิ่มมาตรการลงโทษต่อกองทัพเมียนมาจะไม่ช่วยแก้ปัญหา ทว่าการใช้การทูตแบบทวิภาคีและการทำงานร่วมกับมิตรประเทศเพื่อปลดชนวนวิกฤติ รวมทั้งเพื่อช่วยส่งเสริมให้เมียนมากลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยน่าจะได้ผลมากกว่า
ขณะเดียวกันกลุ่มด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเช่น Human Rights Watch ได้เรียกร้องให้รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนมุ่งเป้าต่อบริษัทต่างๆ ซึ่งกองทัพเมียนมาควบคุมอยู่ โดยขณะนี้มีบริษัทใหญ่สองบริษัทคือบริษัท Myanmar Economic Holdings Limited กับบริษัท Myanmar Economic Corp เป็นบริษัทผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของกองทัพเมียนมาที่ลงทุนอยู่ในภาคเศรษฐกิจต่างๆ นับตั้งแต่การธนาคาร อัญมณี เหมืองทองแดง โทรคมนาคม และอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ซึ่งเมื่อปี 2561 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เคยจัดเตรียมมาตรการลงโทษต่อสองบริษัทของกองทัพเมียนมานี้มาแล้วจากกรณีการสังหารชาวมุสลิมโรฮิงญาแต่ก็ไม่ได้มีการนำมาใช้จริง
และนอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ประธานาธิบดีไบเดนก็ยังสามารถใช้อำนาจตามกฏหมายชื่อ Magnitsky Act เพื่ออายัดทรัพย์สินใดๆ ของบริษัทที่ถูกลงโทษซึ่งอยู่ในสหรัฐฯ รวมทั้งอาจห้ามชาวอเมริกันไม่ให้ทำธุรกิจกับบริษัทที่ว่านี้ได้ รวมทั้งอาจใช้อำนาจตามกฏหมายอีกฉบับหนึ่งที่มีชื่อว่า JADE Act หรือที่มีชื่อเต็มว่า Block Burmese Junta’s Anti Democracy Efforts Act อันเป็นกฎหมายที่จะห้ามนำเข้าหยกและทับทิมที่มีต้นกำเนิดในเมียนมาถึงแม้ว่าสินค้าดังกล่าวจะถูกแปรรูปหรือถูกส่งออกจากประเทศอื่นได้เช่นกัน