ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไบเดนต่อสายตรงผู้นำโลกชุดแรก 'ทรูโด-จอห์นสัน-โอบราดอร์' หลังรับตำแหน่ง


British Prime Minister Boris Johnson speaks to U.S. President Joe Biden from London in this social media image obtained Jan. 23, 2021.
British Prime Minister Boris Johnson speaks to U.S. President Joe Biden from London in this social media image obtained Jan. 23, 2021.

นายกรัฐมนตรีอังกฤษบอริส จอห์นสัน พูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ โจ ไบเดน ในวันเสาร์ โดยระบุว่าอังกฤษพร้อมอย่างยิ่งที่จะจัดทำข้อตกลงการค้าฉบับใหม่กับสหรัฐฯ หลังจากการแยกตัวจากสหภาพยุโรปเสร็จสมบูรณ์แล้ว

นอกจากนี้ ทางการอังกฤษเปิดเผยว่า ผู้นำสหรัฐฯ และอังกฤษยังหารือกันในเรื่องการรับมือการระบาดของโควิด-19 การกลับเข้าร่วมของสหรัฐฯ ในสนธิสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก รวมทั้งองค์การอนามัยโลก

ข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ระหว่างประเทศพันธมิตรสองประเทศนี้ถือเป็นภารกิจสำคัญอันดับแรกของนายกฯ จอห์นสัน หลังจากแยกตัวออกจากอียูเมื่อต้นปีนี้ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยังมิได้มีกำหนดการจัดทำข้อตกลงการค้าดังกล่าว เพราะต้องการมุ่งเน้นเรื่องการควบคุมการระบาดของโควิด-19 มากกว่า รวมทั้งการผลักดันมาตรการบรรเทาทุกข์จากโควิด-19 ชุดใหม่มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์

บอริส จอห์นสัน ถือเป็นผู้นำประเทศคนที่สามที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน พูดคุยทางโทรศัพท์ด้วยหลังจากที่ทำพิธีปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันพุธที่แล้ว ต่อจากนายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด และประธานาธิบดีเม็กซิโก แอนเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์

หารือประเด็นสำคัญกับผู้นำสองประเทศเพื่อนบ้าน

ประธานาธิบดีไบเดนพูดคุยกับผู้นำเพื่อนบ้านสองประเทศดังกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยประธานาธิบดีโอบราดอร์กล่าวว่า นายไบเดนรับปากกับตนว่าจะจัดหาเงิน 4,000 ล้านดอลลาร์เพื่อแก้ปัญหาผู้อพยพ ด้วยการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ในฮอนดูรัส เอลซัลวาดอร์ และกัวเตมาลา ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่มีผู้อพยพจำนวนมากเดินทางผ่านเม็กซิโกไปยังพรมแดนติดกับสหรัฐฯ

ก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน ประธานาธิบดีไบเดนได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับนายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด โดยผู้นำแคนาดาแสดงความผิดหวังที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อยกเลิกโครงการสร้างท่อส่งน้ำมัน Keystone XL จากแคนาดามายังรัฐเท็กซัสทางใต้ของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ คาดว่าผู้นำสองประเทศยังหารือกันเรื่องความเป็นไปได้ที่แคนาดาจะซื้อวัคซีนโควิด-19 จากโรงงานของบริษัทไฟเซอร์ในรัฐมิชิแกนของสหรัฐฯ รวมทั้งประเด็นการค้า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก และความตึงเครียดที่ทั้งสองประเทศมีต่อจีนจากกรณีคำสั่งแบนเทคโนโลยีของบริษัทหัวเหว่ย

XS
SM
MD
LG