ทำเนียบขาวประกาศว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน "ตกลงในหลักการ" ที่จะเข้าร่วมการเจรจากับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน โดยมีข้อแม้ว่ารัสเซียต้องไม่ใช้กำลังทหารรุกรานยูเครน
โฆษกทำเนียบขาว เจน ซากิ แถลงในช่วงค่ำวันอาทิตย์ตามเวลาในสหรัฐฯ ระบุว่ารัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน และรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก ลาฟรอฟ จะหารือกันก่อนในสัปดาห์นี้ที่ยุโรปในประเด็นที่เกี่ยวกับการประชุมของผู้นำทั้่งสอง
ความพยายามทางการทูตครั้งล่าสุดมีขึ้นในขณะที่สหรัฐฯ เตือนว่ารัสเซียอาจส่งกำลังทหารบุกยูเครนเร็ว ๆ นี้ โดยทั้งสหรัฐฯ และชาติตะวันตกพร้อมใช้มาตรการลงโทษขั้นรุนแรงต่อรัสเซียทันทีหากเกิดขึ้นจริง
เจน ซากิ กล่าวว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะใช้วิธีทางการทูต แต่ก็พร้อมที่จะลงโทษรัสเซียเช่นกันหากรัสเซียเลือกที่จะก่อสงคราม ซึ่งในขณะนี้ดูเหมือนรัสเซียยังคงเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะโจมตียูเครนในไม่ช้านี้
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาคร็อง ได้พูดคุยกับผู้นำสหรัฐฯ และรัสเซียในวันอาทิตย์ และยืนยันว่าผู้นำทั้งสองได้ตกลงในหลักการแล้วว่าจะมีการเจรจาร่วมกัน
ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ดมีโทร คูเลบา กล่าวต่อผู้สื่อข่าวก่อนประชุมกับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปว่า ยูเครนหวังว่าผู้นำสหรัฐฯ และรัสเซียจะเดินออกมาจากห้องประชุมพร้อมกับข้อตกลงว่ารัสเซียจะถอนกำลังทหารออกจากพรมแดนติดกับยูเครน พร้อมเสริมว่า รัฐมนตรีบลิงเคนได้รับปากกับตนแล้วว่าจะไม่ทำข้อตกลงใด ๆ ที่เกี่ยวกับยูเครนโดยที่ยูเครนไม่มีส่วนร่วม
ส่วนประธานาธิบดียูเครน โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี กล่าวว่า ตนได้หารือกับผู้นำฝรั่งเศสเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดยิ่งขึ้นทางภาคตะวันออก พร้อมยืนยันว่าตนสนับสนุนให้เกิดการเจรจาสามฝ่ายซึ่งประกอบด้วย ยูเครน รัสเซีย และผู้แทนขององค์กรเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Cooperation in Europe)
แม้ว่าที่ผ่านมา ผู้นำรัสเซียต่างปฏิเสธว่าจะไม่รุกรานยูเครน แต่ประชาคมโลกมีความกังวลมากยิ่งขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ในขณะที่รัสเซียเคลื่อนกำลังพลเข้าไปประชิดพรมแดนยูเครนมากขึ้น รวมทั้งมีการขยายเวลาซ้อมรบร่วมกับเบลารุสในบริเวณพรมแดนด้านเหนือของยูเครนออกไปจากเดิมที่กำหนดจะสิ้นสุดลงเมื่อวันอาทิตย์
จนถึงขณะนี้ คาดว่ามีทหารรัสเซียประจำการอยู่ตามพรมแดนติดกับยูเครนทั้งหมดราว 150,000 คน
ทั้งนี้ พื้นที่ที่มีรายงานการยกระดับความตึงเครียดในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา คือบริเวณภาคตะวันออกของยูเครนที่กลุ่มกบฏซึ่งรัสเซียหนุนหลังเข้ายึดครองไว้ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2014 โดยนับตั้งแต่นั้นมา มีผู้คนถูกสังหารไปแล้วกว่า 14,000 คน โดยประธานาธิบดีเซเลนสกี แห่งยูเครนได้เรียกร้องให้มีการหยุดยิงในพื้นที่ดังกล่าวในวันอาทิตย์
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอพีรายงานว่า รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส ของสหรัฐฯ กล่าวในวันอาทิตย์ ระหว่างเข้าร่วมการประชุมด้านความมั่นคงในนครมิวนิก ประเทศเยอรมนี ว่า สถานการณ์ที่ดำเนินอยู่นี้ คือ “ความน่าจะเป็นของการเกิดสงครามในยุโรป” ขณะที่ ชาลส์ มิเชล เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรป ตั้งคำถามว่า “เครมลินต้องการพูดคุยหารือจริงหรือไม่”
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า สัญญาณต่าง ๆ ที่มีออกมาในเวลานี้ชี้ให้เห็นว่า รัสเซียใกล้จะทำการบุกยูเครนแล้ว แต่สหรัฐฯ และพันธมิตรทั้งหลายจะพยายามใช้โอกาสทางการทูตทุกทางเพื่อโน้มน้าวเครมลินไม่ให้ทำเช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม เอพีรายงานว่า ผู้คนในกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนที่มีประชากรราว 3 ล้านคน ยังคงใช้ชีวิตตามปกติในวันอาทิตย์
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า มาตรการลงโทษที่สหรัฐฯ อาจนำมาใช้กับรัสเซียนั้น รวมถึงการห้ามสถาบันการเงินต่าง ๆ ทำธุรกรรมกับธนาคารรัสเซีย พร้อมกับระบุชื่อบุคคลและนิติบุคคลในรัสเซียที่จะถูกห้ามใช้ระบบการเงินของสหรัฐฯ และห้ามติดต่อทำการค้ากับชาวอเมริกัน ตลอดจนอายัดทรัพย์สินทั้งหมดในสหรัฐฯ ของผู้ที่ถูกลงโทษเหล่านั้น
ด้านนายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน กล่าวว่า อังกฤษจะใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจขั้นรุนแรงที่สุดหากรัสเซียบุกรุกยูเครน ซึ่งจะครอบคลุมทั้งตัวประธานาธิบดีปูตินเองและกลุ่มบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับผู้นำรัสเซียทุกคน รวมทั้งบริษัทที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ต่อรัสเซียก็จะถูกห้ามเกี่ยวข้องกับตลาดทุนและตลาดเงินในอังกฤษ และห้ามซื้อขายเงินปอนด์และเงินดอลลาร์ด้วย
และในวันอาทิตย์ สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงมอสโก ได้มีแถลงการณ์ขอให้ประชาชนอเมริกันทุกคนเตรียมแผนอพยพออกจากรัสเซียแล้ว
- ข้อมูลบางส่วนจากเอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์