บนโลกเทคโนโลยีทุกอย่างมีชีวิตได้ ไม่เว้นแต่ภาพวาดระบายสีขวัญใจเด็กๆ ทุกยุคทุกสมัย เมื่อทีมวิจัยจากสวิตเซอร์แลนด์ พัฒนาแอพพลิเคชันสำหรับแท็ปเล็ต ที่ผสมผสานเทคโนโลยีเสริมจริง หรือ Augmented Reality ทำให้ภาพวาดระบายสีแบบเดิมๆ มีชีวิตขึ้นมาได้
Augmented Reality หรือ เทคโนโลยีเสริมจริง ถูกสร้างขึ้นเพื่อนำภาพจากคอมพิวเตอร์ขึ้นมาปรากฏต่อสายตาของผู้ใช้งาน เช่นเดียวกับทีมวิจัยที่ Game Technology Center ในเมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์ ที่นำแนวคิดนี้มาใส่ไว้ในแท็ปเล็ต เพื่อช่วยให้เด็กๆ สร้างสรรค์สมุดภาพระบายสีมีชีวิตของพวกเขาได้ง่ายๆ
ฟาบิโอ ซุนด์ หนึ่งในทีมวิจัยของ Game Technology Center บอกว่า เพียงแค่ระบายสีตกแต่งตามจินตนาการลงบนในสมุดภาพที่ดูเหมือนภาพธรรมดา แต่เมื่อดูภาพผ่านแอพพลิเคชัน จะปรากฏให้เห็นตัวละครในภาพวาดนั้นกลายเป็นตัวละครแอนิเมชั่น 3 มิติในทันที
เป้าหมายสำคัญของภาพวาดระบายสีมีชีวิตนี้ยิ่งใหญ่กว่านั้น เพราะทีมวิจัยต้องการใช้เป็นสื่อกลางในการศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ และการตอบสนองของมนุษย์ต่อเทคโนโลยี AR
แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีกระแสต่อต้านการใช้เทคโนโลยี AR บนแว่นตาอัจฉริยะ Google Glass ด้วยเหตุผลด้านความเป็นส่วนตัว แต่ผู้เชี่ยวชาญยังคงมองเห็นศักยภาพในการผลักดันการใช้เทคโนโลยี AR ในหลากหลายสาขาวิชาชีพ
เช่น ให้แพทย์ใช้แว่นตาอัจฉริยะระหว่างการผ่าตัด ที่ระบุข้อมูลของคนไข้ที่เข้ารับการรักษา หรือคนงานในโรงงานต่างๆ ก็สามารถใช้แว่นตาชนิดนี้ค้นหาคู่มือการใช้เครื่องมือในโรงงานได้ โดยไม่กระทบกับการทำงานปกติ
และสามารถจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดจากเทคโนโลยีที่อยู่ตรงหน้าได้
บ็อบ ซัมเนอร์ ศาสตราจารย์พิเศษ ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในซูริค มองว่า แนวคิดของเทคโนโลยีเสริมจริง คือการต่อยอด และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และเชื่อว่า AR จะครอบคลุมเกือบทุกภาคธุรกิจทั่วโลกได้ในไม่ช้า
ผู้ออกแบบแอพพลิเคชันนี้เชื่อว่า การ์ตูนแอนิเมชั่น 3 มิติจากภาพวาดระบายสีเหล่านี้ได้เปิดจินตนาการให้เด็กๆ พัฒนาตัวละครและสถานการณ์ที่ซับซ้อนขึ้น
ซึ่งทีมวิจัยเตรียมที่จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้ เพื่อปลุกชีพผลงานจิตรกรรมของศิลปินที่ซับซ้อนขึ้น ให้ทีมวิจัยศึกษาพฤติกรรมของเด็กๆ ต่อโลกที่หมุนไปรอบตัวพวกเขาได้ในอนาคต