นักดาราศาสตร์กลุ่มหนึ่งเพิ่งตรวจพบกลุ่มของดวงดาวที่อยู่ไกลโพ้นจากโลกกว่ากลุ่มใด ๆ ที่เรารู้จักภายในกาแล็กซีของเราในกลดดาวที่อยู่รอบนอกทางช้างเผือก
นักวิจัยเปิดเผยว่า กลุ่มดาวฤกษ์ 208 ดวงนี้อยู่ในรัศมีที่ไกลที่สุดของกลดดาวของทางช้างเผือก ซึ่งมีลักษณะเหมือนกลุ่มก้อนเมฆทรงกลมที่มีเต็มไปด้วยด้วยสสารมืด (dark matter) หรือสสารลึกลับในจักรวาลที่เรามองไม่เห็นแต่รู้ว่ามีอยู่จากแรงกดดันของแรงโน้มถ่วงเท่านั้น และดวงดาวที่ไกลที่สุดของกลุ่มดาวนี้อยู่ห่างจากโลก 1.08 ล้านปีแสง โดยหน่วยปีแสง คือ ระยะทางที่แสงเดินทางในหนึ่งปี ซึ่งก็คือ 5.9 ล้านล้านไมล์ (หรือ 9.5 ล้านล้านกิโลเมตร)
ดวงดาวเหล่านี้ที่ถูกค้นพบโดยการใช้กล้องโทรทรรศน์แคนาดา-ฝรั่งเศส-ฮาวาย บนภูเขามาอูนา เคอา ในฮาวาย และกลุ่มดาวนี้ถูกจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของดาวฤกษ์ประเภทที่เรียกว่า อาร์อาร์ ไลรา (RR Lyrae) ซึ่งมีมวลค่อนข้างต่ำและโดยทั่วไปมีองค์ประกอบที่หนักกว่าไฮโดรเจนและฮีเลียมอยู่ในระดับต่ำ โดยดาวดวงที่อยู่ไกลที่สุดนั้นดูเหมือนจะมีมวลประมาณ 70% ของดวงอาทิตย์ของเรา และที่ผ่านมาไม่มีการตรวจวัดขนาดของดาวในทางช้างเผือกอื่นใดที่อยู่ห่างไกลกว่านี้อีกแล้ว
ทั้งนี้ ดาวฤกษ์ที่บริเวณรอบนอกของกลดดาราจักร (galactic halo) นั้นถูกจัดให้เป็น ดาวฤกษ์อิสระ ซึ่งน่าจะถือกำเนิดมาจากในกาแล็กซีขนาดเล็ก ก่อนที่จะมาปะทะเข้ากับทางช้างเผือกที่มีขนาดใหญ่กว่าในเวลาต่อมา
ยูติง เฟ็ง (Yuting Feng) นักศึกษาปริญญาเอกด้านดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานตาครูซ ซึ่งเป็นหัวหน้าการศึกษาที่ได้นำเสนอในที่ประชุม American Astronomical Society ในนครซีแอตเติลเมื่อไม่ต้นเดือนมกราคม กล่าวว่า "การตีความของเราเกี่ยวกับต้นกำเนิดของดวงดาวอันไกลโพ้นเหล่านี้คือ พวกมันน่าจะเกิดในกลดของดาราจักรแคระและกระจุกดาว ซึ่งต่อมาผนวกรวมเข้าด้วยกัน หรือพูดตรง ๆ ก็คือ ถูกทางช้างเผือกกลืนกินเข้าไปนั่นเอง”
เฟ็ง กล่าวด้วยว่า "ดาราจักรแม่ของกลุ่มดาวที่ว่านี้ถูกแรงโน้มถ่วงบดขยี้และย่อยสลายไป แต่ดาวฤกษ์เหล่านี้กระเด็นหลุดลอยออกมากเป็นระยะทางไกลมาก และกลายมาเป็นเศษซากของการควบรวมดังกล่าว"
ทั้งนี้ ทางช้างเผือกของกาแล็กซีเรานั้นก็เดินหน้าเติบโตขึ้นมาได้เรื่อย ๆ เพราะเหตุการณ์แบบที่ว่าซึ่งเกิดขึ้นอีกหลายต่อหลายครั้ง
ราชา กุหธากุลต (Raja GuhaThakurta) ประธานภาควิชาดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานตาครูซ ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษานี้ อธิบายว่า "กาแล็กซีขนาดใหญ่จะเติบโตขึ้นได้โดยการกลืนกินกาแล็กซีที่มีขนาดเล็กกว่า
กลดของทางช้างเผือกประกอบด้วยชั้นในและชั้นนอก และมีขนาดใหญ่กว่าส่วนที่เป็นจาน (disk) หลักและส่วนโป่ง (bulge) ตรงใจกลางของดาราจักร ซึ่งเต็มไปด้วยดวงดาวมากมายและมีหลุมดำขนาดมหึมาอยู่ตรงใจกลางและห่างจากโลกประมาณ 26,000 ปีแสง ทั้งยังมีดวงดาวล่องลอยรวมกันอยู่ประมาณ 100,000-400,000 ล้านดวง โดยรวมถึงดวงอาทิตย์ของเราซึ่งตั้งอยู่ใน 1 ในแขนกังหันหลัก 4 แขน ที่ประกอบกันเป็นส่วนจานของทางช้างเผือก
ทั้งนี้ มีการประเมินว่า จำนวนดวงดาวที่มีอยู่ในกลดของทางช้างเผือกนั้นคิดเป็นสัดส่วนราว 5% ของดาวที่มีอยู่ในกาแล็กซี
ส่วนสสารมืดซึ่งมีอยู่เต็มกลดดาวของทางช้างเผือกนั้น เป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของมวลของเอกภพ (universe) ที่เชื่อกันว่า เป็นโครงสร้างพื้นฐานของเอกภพด้วย โดยแรงโน้มถ่วงของสสารมืดคือ ส่วนที่มีอิทธิพลต่อสสารปกติให้มารวมกันและก่อตัวเป็นดาวฤกษ์และกาแล็กซีต่าง ๆ
ส่วนที่อยู่ด้านนอกและห่างไกลออกไปของกลดดาวนั้นเป็นบริเวณที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ค่อยรู้จักมากเท่าใด และระยะทางจากโลกถึงกลุ่มดาวฤกษ์ที่เพิ่งถูกค้นพบใหม่เหล่านี้ก็ไกลถึงเกือบครึ่งหนึ่งของระยะทางไปยังดาราจักรอันโดรเมดาที่อยู่ติด ๆ กับทางช้างเผือก
ที่ผ่านมา มนุษย์เดินหน้าค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกโดยมุ่งเน้นไปที่ดาวเคราะห์หินที่คล้ายกับโลกซึ่งโคจรรอบดาวฤกษ์แบบที่เรียกว่าเป็น "เขตที่สิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้" โดยมีการค้นพบดาวเคราะห์มากกว่า 5,000 ดวงนอกระบบสุริยะของเรา (ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ) แล้ว
ราชา กุหธากุลต ประธานภาควิชาดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานตาครูซ กล่าวทิ้งท้ายว่า “แม้จะไม่ทราบแน่ชัด แต่ดาวแต่ละดวงในกลดดาวชั้นนอกนี้น่าจะมีดาวเคราะห์โคจรรอบพวกมัน คล้าย ๆ กับ(ของ)ดวงอาทิตย์และดวงดาวที่มีลักษณะคล้ายดวงอาทิตย์อื่น ๆ ในทางช้างเผือก”
- ที่มา: รอยเตอร์