ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักเรียนจีนนำโด่งเรื่องทักษะวิชาสำคัญ ไทยอยู่ครึ่งล่างของตาราง


Student working on science test
Student working on science test
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:26 0:00

ผลการทดสอบทักษะการเรียนของเด็กวัย 15 ปีทั่วโลก พบว่า ประเทศจีน สิงคโปร์ เอสโตเนีย ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ และเกาหลีใต้ เป็นตัวอย่างประเทศที่มีนักเรียนทำคะแนนสอบสามวิชาสำคัญ คือ การอ่าน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สูงกว่าสหรัฐฯ

ในการจัดทำรายงานของโครงการ Program for International Student Assessment (PISA) ภายใต้องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD นักเรียนจีน เฉพาะจากสี่เมืองคือปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และซินเจียง ทำคะแนนวิชาหลักสามวิชา ได้เป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยเฉพาะในวิชา คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ที่นำห่างประเทศอื่น

ผู้จัดทำกล่าวว่า ความเป็นเลิศทางการศึกษาของนักเรียนจีน มีความน่าสนใจเป็นพิเศษตรงที่ฐานะทางเศรษฐกิจของเมืองใหญ่สี่แห่งที่กล่าวมาในจีน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่ม OECD อย่างมาก

หากดูเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ 10 อันดับแรกของโลกได้แก่ จีน สิงคโปร์ มาเก๊า ฮ่องกง ไทเป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เอสโตเนีย เนเธอร์แลนด์ และโปแลนด์ ตามลำดับ ขณะที่ สหรัฐฯติดอันดับ 37

ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ อันดับหนึ่งคือนักเรียนจีน ตามมาด้วย สิงคโปร์ มาเก๊า เอสโตเนีย ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ เกาหลีใต้ แคนาดา ฮ่องกงและไต้หวัน สหรัฐฯ ติดอันดับ 18

สำหรับประเทศไทยคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้ว 36 แห่งในกลุ่ม OECD อย่างชัดเจน

และในรายงานของ PISA ที่ประกอบด้วยผลคะแนนจากนักเรียน 78 ประเทศ ไทยอยู่ที่อันดับ 66 ในด้านการอ่าน

ในวิชาคณิตศาสตร์ คะแนนของนักเรียนไทยอยู่ที่อันดับ 56 และในสาขาวิทยาศาสตร์ อยู่อันดับ 55

ผลการศึกษาของโครงการ PISA ชี้ให้เห็นว่า โดยรวมนักเรียนที่มีความพร้อมทางสังคมและเศรษฐกิจ หรือผู้ที่มาจากประเทศร่ำรวย มักทำคะแนนได้ดีกว่า นักเรียนที่ด้อยโอกาส

อย่างไรก็ตาม หากดูรายละเอียดจะพบว่าความได้เปรียบทางเศรษฐกิจไม่จำเป็นว่าจะทำให้นักเรียนมีทักษะการเรียนที่สูงเสมอไป

ตัวอย่างเช่น นักเรียนกว่า 10 ล้านคน ในประเทศที่มีรายได้สูงและรายได้ปานกลาง ยังคงไม่สามารถทำโจทย์ง่ายๆด้านการอ่านได้

นอกจากนี้ แม้ว่าประเทศกลุ่ม OECD จะเพิ่มการใช้จ่ายด้านการศึกษาร้อยละ 15 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ ไม่พบการพัฒนาที่ชัดเจนโดยรวมต่อผลคะแนนของนักเรียน

และน่าสังเกตว่า นักเรียนจากประเทศจีนในสี่เมืองใหญ่ ที่มีความเป็นเลิศด้านการศึกษา กลับอยู่ในกลุ่มที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจมากที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์แรกของโลก

รายงานระบุว่า การลงทุนด้านการศึกษามูลค่า 50,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1 ล้าน 5 แสนบาท ต่อนักเรียนหนึ่งคนตั้งแต่อายุ 6 ปี จนถึง 15 ปี จะช่วยสนับสนุนด้านการศึกษาของเด็กได้ดี แต่หากเพิ่มการลงทุนจากจุดนั้นไป ผลลัพธ์เรื่องการทำข้อสอบได้ดีขึ้นแทบไม่สัมพันธ์กับการลงทุนที่เพิ่มขึ้น

ตัวอย่างเช่น ออสเตรเลีย อังกฤษและสหรัฐฯ ลงทุนโดยเฉลี่ยสำหรับนักเรียนหนึ่งคน มูลค่ากว่า 107,000 ดอลลาร์ แต่เด็กๆหล่านี้ทำคะแนนการสอบได้พอๆกันกับ หรืออาจจะด้อยกว่า ผู้ที่มาจาก แคนาดา ไอร์แลนด์ และนิวซีแลนด์ ซึ่งใช้เงินด้านการศึกษากับนักเรียนในประเทศของตนน้อยกว่า สามประเทศดังกล่าว ราว 10-30 เปอร์เซ็นต์

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือผลการเรียนของนักเรียนที่มาจากครอบครัวผู้อพยพ

กล่าวคือร้อยละ 30 ของนักเรียนกลุ่มนี้ในประเทศบรูไน จอร์แดน ปานามา กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย และสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทำคะแนนได้ดีในระดับ 25 เปอร์เซ็นต์แรกด้านการอ่าน

ผู้จัดทำรายงานของ PISA ชี้ว่า ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญคือ การสนับสนุนจากผู้ปกครอง บรรยากาศการเรียนที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ และทัศนะคติด้านบวกสำหรับการพัฒนาตนเอง

นอกจากนี้ คณะผู้จัดทำเตือนถึงความสามารถของนักเรียนในการแยกแยะข้อมูลจริงออกจากข้อมูลเท็จ ท่ามกลางการแพร่ขยายอย่างรวดเร็วของข้อมูลดิจิตอล

สถิติชี้ว่า นักเรียนไม่ถึง 1 ใน 10 ของกลุ่มประเทศ OECD สามารถแยก “ข้อเท็จจริง”ออกจาก “ข้อมูลทางเลือก”

รายงานฉบับนี้ให้ข้อคิดทิ้งท้ายว่า “ที่ผ่านมา ประโยชน์จากการศึกษาช่วยนักเรียนให้เอาชนะการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีได้อย่างทันท่วงที แต่ในอนาคต ยังไม่มีสิ่งที่การันตีได้ว่า ชัยชนะนี้จะดำรงอยู่ต่อไป ”

XS
SM
MD
LG