สถาบันวิจัยในอังกฤษ Economist Intelligence Unit จัดทำดัชนีคุณภาพชีวิตบั้นปลายของคนเราขึ้นมา ดัชนีที่ว่านี้วิเคราะห์จุดจบชีวิตของผู้คนใน 40 ประเทศ และพบว่า หลายประเทศในเอเชียไม่เอื้ออำนวยชีวิตบั้นปลายของคนในประเทศของตนได้ดีนัก
มูลนิธิ Lien ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลในสิงคโปร์เป็นผู้ออกทุนสนับสนุนการศึกษาวิเคราะห์ของ Economist Intelligence Unit โดยอยากจะดูผลการศึกษาเปรียบเทียบว่า ใน 40 ประเทศที่เก็บข้อมูลมานี้ ประเทศใดมีระบบหรือการดำเนินการที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในบั้นปลายของชีวิต ได้ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอย่างสะดวกสะบาย ได้รับยาและการบำบัดที่ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดโดยการแพทย์ที่มีการฝึกอบรมในทางนี้โดยเฉพาะ และรัฐให้การสนับสนุน
เรื่องนี้ยังไม่ค่อยมีใครอยากจะพูดถึง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเพณีนิยมของสังคมที่ไม่พูดในเรื่องความตาย อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะยาส่วนใหญ่ที่จะช่วยลดอาการเจ็บปวดได้นั้น เป็นตัวยาที่สามารถใช้ในการเสพติดได้ และเกรงกันว่าจะเป็นการเปิดช่องการค้ายาเสพติดขึ้นมา
ผลปรากฎว่า มาตรการสำคัญของแนวคิดนี้ คือการช่วยบรรเทาความเจ็บปวด หรือที่เรียกว่า Palliative Care นั้น ยังไม่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป แม้ในประเทศที่เจริญก้าวหน้าและร่ำรวยแล้วก็ตาม
ประเทศที่ติดอันดับหนึ่งในดัชนีคุณภาพชีวิตในบั้นปลายนี้ คืออังกฤษ ที่สองและที่สาม คือออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ สหรัฐนั้นติดอันดับที่เก้า
สำหรับประเทศในเอเชียที่อยู่ในกลุ่มการศึกษานี้ ไต้หวันติดอันดับที่ 14 สูงที่สุดในบรรดาประเทศในเอเชีย ด้วยกัน สิงคโปร์ที่ 18 ฮ่องกงที่ 20 ญี่ปุ่นที่ 23 เกาหลีใต้และมาเลย์เซียเรียงกันอยู่ที่ 32 และ 33 ตามลำดับ
รายงานการศึกษาฉบับนี้กล่าวว่า ในขณะนี้มีคนมากกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งประกอบไปด้วยคนไข้ และสมาชิกในครอบครัวของคนไข้ที่เป็นผู้ให้การดูแล ที่ต้องการความช่วยเหลือและสนับสนุนในการดูแลและการลดความเจ็บปวดให้กับคนไข้ แต่จริงๆแล้วมีไม่ถึง 8% ที่ได้รับความช่วยเหลือที่ว่านี้
ผู้เขียนรายงานเตือนว่า ในขณะที่อัตราการเกิดลดลง และประชากรโลกมีอายุยืนยาวมากขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลและผู้ให้การบำบัดดูแลคนไข้จะต้องหันมาให้ความสนใจกันในเร็วๆนี้เพื่อหาทางแก้ไขให้ทันการ