สำหรับเด็กนักเรียนอเมริกันเชื้อสายเอเชียในสหรัฐ พ่อแม่ผู้ปกครองของคนกลุ่มนี้มักให้ความสำคัญอย่างมากเรื่องการศึกษาและตั้งความหวังไว้ค่อนข้างสูงเรื่องการทำคะแนนได้ดี การได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำ รวมทั้งการได้ประกอบอาชีพที่สังคมยอมรับว่าประสบความสำเร็จ เช่น อาชีพแพทย์ นักกฎหมาย วิศวกร หรือนักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น และนอกเหนือจากความคาดหวังจากครอบครัวแล้วสังคมโดยทั่วไปก็มักมองกลุ่มคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียว่าค่อนข้างฉลาด ทำงานหนัก และมักประสบความสำเร็จทั้งในด้านการศึกษาและหน้าที่การงานด้วย
โดยภาพรวมแล้วเด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิงเชื้อสายเอเชียจะมีผลการเรียนพอๆ กันในระดับประถม แต่เมื่อเริ่มย่างเข้าช่วงวัยรุ่นตอนต้นคือระดับม.สองหรือม.สามซึ่งเท่ากับประมาณเกรดเก้าในสหรัฐนั้น ผลการเรียนของเด็กผู้ชายเชื้อสายเอเชียจะเริ่มตกลงและเกิดสิ่งที่เรียกว่าช่องว่างของผลการศึกษาระหว่างเด็กนักเรียนหญิงกับเด็กนักเรียนชายขึ้น โดยนักเรียนชายเชื้อสายเอเชียมักล้าหลังเด็กนักเรียนหญิงเชื้อสายเดียวกันในช่วงนี้ราวหนึ่งในสามของผลการเรียนซึ่งได้จากการตัดเกรด
การค้นพบเรื่องนี้อยู่ในรายงานการศึกษาของอาจารย์ Amy Hsin นักสังคมวิทยาของ Queens College ในรัฐนิวยอร์ก ซึ่งเธอพบว่าสำหรับเด็กผู้ชายเชื้อสายเอเชียในอเมริกาอิทธิพลจากความคาดหวังของครอบครัวและสังคมเรื่องการเป็นนักเรียนที่ดีและทำคะแนนได้ดีนั้นจะเริ่มเสื่อมถอยลงเมื่อคนกลุ่มนี้ย่างเข้าช่วงวัยรุ่นตอนต้น ทั้งนี้เพราะปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่มีอิทธิพลมากกว่า เช่น เรื่องภาพลักษณ์ของการเป็นผู้ชายเชื้อสายเอเชีย อิทธิพลจากกลุ่มเพื่อน รวมทั้งการพยายามทำตัวให้เป็นที่ยอมรับหรือมีตัวตนในสังคม เป็นต้น
อาจารย์ Amy Hsin นักสังคมวิทยาบอกว่าสำหรับเด็กผู้ชายเอเชียที่เกิดและเติบโตในอเมริกาความคาดหวังจากครอบครัวเรื่องการศึกษามักมีความสำคัญน้อยลงเมื่อคนกลุ่มนี้เริ่มแตกเนื้อหนุ่มและมีแรงกระตุ้นให้ต้องต่อสู้หรือสร้างภาพลักษณ์ว่าตนเป็น “แมน” พอ และการมองของสังคมที่มักจะเหมารวมว่าเด็กอเมริกันเชื้อสายเอเชียเป็นผู้คงแก่เรียนนั้นเริ่มไม่มีความหมายความสำคัญอีกต่อไป แต่การเป็นบุคคลที่เข้มแข็งกร้าวแกร่งและเก่งกีฬาจะมีความสำคัญมากกว่า ดังนั้นความกดดันในด้านนี้จึงมักเข้ามาแทนที่และแย่งความสนใจเรื่องความสำเร็จด้านการศึกษาไป
ผลการศึกษาเกี่ยวกับความสนใจและความสำเร็จด้านการศึกษาระหว่างเด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชายอเมริกันเชื้อสายเอเชียยังแสดงด้วยว่า ในขณะที่เด็กผู้หญิงเชื้อสายเอเชียได้รับแรงกระตุ้นให้ขยันหมั่นเพียร ทะเยอทะยาน และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีนั้นเด็กผู้ชายเชื้อสายเอเชียซึ่งอ่อนไหวต่ออิทธิพลกดดันมากกว่ามักเบี่ยงเบนออกจากเป้าหมายเรื่องการศึกษา เพราะคิดว่าเรื่องนี้ไม่ช่วยให้ตนดูเป็นแมนพอและพยายามค้นหาหรือพัฒนาตัวตนด้านอื่นให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อนซึ่งประกอบด้วยทั้งชนกลุ่มน้อยและคนอเมริกันผิวขาวแทน
ถึงแม้ผลการศึกษาเรื่องนี้ซึ่งใช้กลุ่มตัวอย่างนักเรียนผิวขาวราว 9,000 คนกับนักเรียนเชื้อสายเอเชียอีก 1,700 คนอาจยังไม่ถือได้ว่าให้ข้อสรุปที่ชัดเจนแน่นอน แต่ผลที่ได้ก็สอดคล้องกับการศึกษาชิ้นก่อนหน้าซึ่งแสดงถึงผลกระทบจากปัจจัยภายนอกและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อผลการศึกษาของเด็กผู้ชาย
โดยอาจารย์ Amy Hsin ยังชี้ด้วยว่าช่องว่างของความสำเร็จด้านการศึกษาระหว่างเด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิงเชื้อสายเอเชียในระดับมัธยมปลายนี้จะน้อยลงในโรงเรียนที่ไม่มุ่งเน้นความสำคัญเรื่องกีฬา เพราะจะช่วยให้เด็กนักเรียนชายมีสมาธิเรื่องการศึกษามากขึ้น และนักสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัย Queens College ก็หวังว่าข้อมูลที่ได้จะช่วยให้เด็กนักเรียนเพศชายทุกเชื้อชาติและผิวพรรณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกา สามารถบรรลุความสำเร็จทางการศึกษาได้เต็มตามศักยภาพของตน
โดย: New York Times