สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บรรดาผู้ผลิตภาพยนตร์เชื้อสายเอเชียนอเมริกัน ต่างแสดงความไม่พอใจที่ภาพยนตร์เรื่อง “มินาริ” (Minari) จะเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมในเวทีลูกโลกทองคำในปีหน้า แทนที่จะเป็นสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นรางวัลที่ใหญ่กว่า
ภาพยนตร์เรื่อง “มินาริ” บอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวชาวเกาหลีที่มาตั้งรกรากทำฟาร์มในรัฐอาร์คันซอในช่วงทศวรรษปี ค.ศ.1980 โดยก่อนหน้านี้ "มินาริ" ชนะรางวัลหนังยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ และกำลังเป็นที่น่าจับตามองว่าจะเป็นตัวเต็งเข้าชิงอีกหลายรางวัลในปีหน้า
ผู้แสดงและผู้กำกับของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นชาวเอเชียนอเมริกันทั้งหมด และบทพูดส่วนใหญ่ในเรื่องเป็นภาษาเกาหลี แต่กฎของเวทีลูกโลกทองคำระบุว่า ภาพยนตร์ที่เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจะต้องมีบทพูดเป็นภาษาอังกฤษอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์
ลูลู แวง ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “The Farewell” หรือ “กอดสุดท้าย คุณยายที่รัก” ผู้มีเชื้อสายจีนอเมริกัน ทวีตข้อความว่า ภาพยนตร์เรื่องมินาริเป็นเรื่องราวของครอบครัวผู้อพยพในสหรัฐฯ ไล่ตามความฝันของอเมริกันชน และควรมีการเปลี่ยนกฎโบราณที่มองว่าคนอเมริกันต้องพูดภาษาอังกฤษเท่านั้น
แดเนียล แด คิม อดีตนักแสดงจากซีรีส์เรื่อง “Hawaii Five-0" หรือ “มือปราบฮาวาย” ทวิตข้อความเช่นกันว่า การมีกฎเช่นนี้ คล้ายกับการบอกผู้อพยพที่อาศัยในอเมริกาให้ “กลับประเทศ” ไป ทั้ง ๆ ที่ประเทศของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือสหรัฐฯ
ในขณะที่นักวิจารณ์ภาพยนตร์บางคนบอกว่ากฎนี้เป็นการเหยียดเชื้อชาติ
ส่วนเวทีรางวัลออสการ์นั้นมีกฎที่ต่างออกไป โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภาพยนตร์เรื่อง “Parasite” หรือ “ชนชั้นปรสิต” จากเกาหลีใต้ เป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่คว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปได้ ในขณะที่เรื่อง Parasite กลับไม่ได้เข้าชิงรางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีลูกโลกทองคำ แต่คว้ารางวัลในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศไปแทน
ที่ผ่านมา ฮอลลีวูดพยายามเพิ่มความหลากหลายในวงการบันเทิงทั้งในงานเบื้องหลังและงานหน้ากล้อง หลังจากที่ในปี ค.ศ. 2016 นักแสดงที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ทั้ง 20 คน ล้วนแล้วแต่เป็นคนผิวขาวทั้งหมดติดต่อกันเป็นปีที่สอง
การประกาศผู้เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำสาขาต่างๆ จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า