คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค หรือ UN ESCAP ที่จัดการประชุมเป็นเวลา 3 วันที่กรุงเทพมหานคร ยกย่องการทำงานของประเทศต่างๆ ที่รับมือการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี-เอดส์อย่างได้ผลในรอบหลายปีที่ผ่านมา
Noeleen Heyzers เลขาธิการบริหารของ UN ESCAP กล่าวในที่ประชุมที่มีสมาชิกว่า 34 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเข้าร่วมว่า มีผู้คนมากขึ้นที่สามารถเข้าถึงการรักษาอาการติดเชื้อเอชไอวี ขณะเดียวกันจำนวนผู้ป่วยเอชไอวีรายใหม่ก็มีจำนวนลดลงร้อยละ 20 ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544 หรือ เมื่อกว่า 11 ปีก่อน นอกจากนี้ยังตั้งเป้าไว้ว่าจะสามารถหยุดการแพร่ระบาดของโรคร้ายแรงนี้ให้ได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า
เลขาธิการบริหารของ UN ESCAP กล่าวว่า หลายประเทศเช่นกัมพูชา อินเดีย พม่า และไทย ประสบความสำเร็จที่จะลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวี ด้วยการรณรงค์อย่างกว้างขวางผ่านโครงการป้องกันต่างๆ โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ซื้อและขายบริการทางเพศ
อย่างไรก็ตามผลการดำเนินการโดยรวมในกลุ่มเอเชียแปซิฟิคก็ยังไม่ทั่วถึงมากนักและยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะอัตราการแพร่ระบาดของโรคมีมากกว่าอัตราการเข้ารับการรักษาของผู้ติดเชื้อ
เลขาธิการบริหารของ UN ESCAP ย้ำว่า อัตราผู้ที่ติดเชื้อเพิ่มยังมีมากกว่าอัตราของผู้เข้ารับการรักษาใหม่เกือบ 2 เท่าตัว โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเช่นกลุ่มซื้อขายบริการทางเพศ กลุ่มผู้ติดยาเสพติด กลุ่มรักร่วมเพศในผู้ชาย และกลุ่มที่แปลงเพศ
รายงานของสหประชาติระบุว่า กว่าร้อยละ 90 ของประเทศในเอเชียแปซิฟิค ยังมีอุปสรรคในการจัดการกับปัญหาเอชไอวี รวมทั้งการลงโทษทางกฏหมายกับกลุ่มผู้ให้บริการทางเพศและกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้มากเท่าที่ควร นอกจากนี้ในหลายประเทศปฏิเสธที่จะให้การรักษากับบุคลผิดกฏหมาย ผู้ที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ และกลุ่มผู้ที่แปลงเพศ
ประธานาธิบดี Ratu Epeli Nailatikau ของฟิจิ ซึ่งเป็นประเทศแรกในหมู่เกาะแปซิฟิคที่ยอมลดโทษให้กับกลุ่มรักร่วมเพศ และจัดหางบประมาณเพื่อการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมทั้งเป็นหนึ่งใน 2 ประเทศร่วมกับจีน ที่ยอมลดความเข้มงวดนในการเดินทางของผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพื่อทำการรักษา
ประธานาธิบดีแห่งฟิจิ กล่าวว่า รัฐบาลของทุกประเทศต้องมีความรับผิดขอบที่จะจัดหางบประมาณเพื่อรับมือและช่วยเหลือกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นสวัสดิการที่รัฐบาลที่มีจริยธรรมควรทำเพื่อประชาชนของประเทศ
ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค มีจำนวนผู้ติดเชื้อ HIV กว่า 6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 15 ของผู้ติดเชื้อทั่วโลก แต่ในช่วงที่ผ่านมาการจัดหางบประมาณในระดับนานาชาติเพื่อสนับสนุนโครงการรักษา HIV ในภูมิภาคนี้กลับลดน้อยลงและยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก
แม้กระนั้นในหลายประเทศในภูมิภาคเช่น จีน มาเลเซีย ปากีสถาน ซามัว รวมทั้งประเทศไทย ก็ได้รับการยกย่องจาก UN ESCAP ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีที่ทุกประเทศควรทำตามจากการประสบความสำเร็จในการจัดหางบประมาณภายในประเทศเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของเชื้อ HIVอย่างได้ผล