บริษัท อีเทอร์เนวา คือสตาร์ตอัพ ที่ตั้งอยู่ในรัฐเทกซัส และเป็นผู้นำเสนอวิธีเก็บความทรงจำดีๆ ที่ว่าด้วยการเปลี่ยนเถ้ากระดูกที่เหลือจากการเผาหรือการฌาปนกิจ ให้กลายมาเป็นเพชรได้สำเร็จ
อเดลล์ อาร์เชอร์ ซีอีโอของบริษัท เล่าให้ฟังว่า กระบวนการแปลงสภาพเถ้ากระดูกให้กลายเป็นเพชรนั้นทำได้ในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ด้วยการสกัดคาร์บอนออกจากขี้เถ้าหรือขนหรือเส้นผม เพราะนั่นคือส่วนประกอบทางเคมีที่ก่อกำเนิดเพชรอยู่แล้ว
ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาจากห้องทดลองนั้น คือ เพชรน้ำดีที่เหมือนกับเพชรจริง ๆ ที่ขุดได้จากเหมือง และมีส่วนประกอบทางเคมีเหมือนเพชรปกติด้วย
อาร์เชอร์ บอกว่า การปลูกเพชร หรือการผลิตเพชรด้วยเครื่องจักร โดยไม่ต้องเสียแรงขุดเหมืองนั้นเป็นไปได้ ด้วยการใช้แรงดันและอุณหภูมิสูงมากๆ เช่นเดียวกับกระบวนการทางธรรมชาติที่ก่อกำเนิดเพชรนั่นเอง
จริงๆ แล้ว ตัวของเธอทำงานในอุตสาหกรรมการผลิตเพชรในห้องทดลองมาระยะหนึ่ง พร้อมกับอดีตพี่เลี้ยงที่เป็นเหมือนเพื่อนสนิทของเธอที่เสียชีวิตไปแล้ว
อาร์เชอร์ บอกว่า อดีตพี่เลี้ยงที่ชื่อ เทรซี่ ยังเป็นเหมือนแม่คนที่สองของเธอด้วย และหลังเธอเสียชีวิตไป อาร์เชอร์ ก็ได้รับเถ้ากระดูกส่วนหนึ่งเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย และเมื่อเธอได้ลองพูดคุยกับนักวิทยาศาตร์ที่เชี่ยวชาญเรื่องเพชร ก็ได้เรียนรู้ว่า มีส่วนประกอบคาร์บอนอยู่ในเถ้ากระดูก และการสกัดส่วนประกอบนี้ออกมาจากเถ้าของเทรซี่ ก็จะนำไปทำเป็นเพชรได้ เธอจึงตัดสินใจลองทำดู
ตามปกติ เพชรที่ผลิตในห้องทดลองจะเริ่มต้นจาก การใช้เศษเล็กๆ ของ เมล็ดเพชร หรือ Diamond seed ซึ่งเป็นเพชรที่มีความบริสุทธิ์มาก และได้มาจากเพชรที่เกิดตามธรรมชาติ เป็นจุดเริ่มของการปลูกเพชร ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 8 เดือนที่จะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
อาร์เชอร์ บอกว่า หลังทำการสกัดส่วนประกอบคาร์บอนจากเถ้ากระดูกแล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็จะผสมสิ่งที่ได้กับคาร์บอนธรรมดาๆ และอัดออกให้เป็นรูปร่างเหมือนแผ่นดิสก์ เป็นจานคาร์บอนเล็กๆ แล้วปล่อยทิ้งไว้ เมื่อเวลาผ่านไป ส่วนประกอบคาร์บอนก็จะเกิดการตกตะกอนลงบนเมล็ดเพชร และเมื่อทิ้งไว้ต่อไป ก็จะเกิดผลึกเพชรดิบขึ้นมา ซึ่งนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องประดับจิวเวลรี่ส่วนตัว ตามต้องการได้ต่อไป
แต่แม้ว่านี่จะไม่ใช้เพชรแท้จากธรรมชาติ ราคาของเพชรจากเถ้าธุลีนี้นับว่าสูงมากอยู่ โดยอาร์เชอร์บอกว่า ลูกค้าที่สั่งทำต้องลงทุนประมาณ 7,000 ถึง 8,000 ดอลลาร์ หรือราว 220,000 ถึง 250,000 บาท ต่อเพชรหนึ่งเม็ด
อย่างไรก็ดี อาร์เชอร์ อธิบายว่า หากคน ๆ หนึ่งรู้สึกสูญเสียคนที่รักมากไป และเป็นการจากไปก่อนเวลาอันควร คน ๆ นั้นก็มักยอมลงทุนเงินก้อนโตขนาดนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้สึกใกล้ชิดที่คุ้นเคยและอยากนำติดตัวไปด้วยตลอดเวลา
ผู้สื่อข่าววีโอเอ ได้พูดคุยกับลูกค้าของ อีเทอร์เนวา คนหนึ่ง ซึ่งก็คือ ดอรี่ เฮอร์แมน ผู้สูญเสีย โคลอี้ สุนัขแสนรักไป
เฮอร์แมน บอกว่า เธอนึกไม่ออกว่าจะมีวิธีไหนดีไปกว่านี้ ที่จะเก็บความทรงจำที่ดีพร้อมๆ กับรู้สึกว่า สัตว์เลี้ยงของเธอไม่ได้จากเธอไปแล้วจริงๆ
เธอบอกด้วยว่า เธอรู้สึกเหมือน โคลอี้ ยังอยู่ใกล้ๆ เธอ และยิ้มให้เธอทุกครั้งที่มองดูเพชรเม็ดนี้ โดยเธอไม่ได้รู้สึกเศร้าแม้แต่น้อย เพราะโคลอี้จะอยู่กับเธอตราบชั่วกาลนาน