ที่ผ่านมาตั้งเเต่กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ นานาประเทศต้องการเห็นการเเก้ปัญหาอย่างสันติผ่านกระบวนการของสมาคมอาเซียนแห่งภูมิภาคเอเชียตะวีนออกเฉียงใต้ ซึ่งเมียนมาเป็นสมาชิกอยู่
อาเซียนได้ประกาศกรอบฉันทามติ 5 ข้อ เมื่อปลายเดือนเมษายน ซึ่งเรียกร้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องยุติการใช้ความรุนเเรง อย่างไรก็ตามยังเกิดความสูญเสียต่อเนื่องจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกมิน ออง หล่าย
สถิติขององค์กร Assistance Association for Political Prisoners ระบุว่า ณ วันอังคารที่ผ่านมา มีประชาชนเสียชีวิต 841 รายและมีคนถูกจับกุมตัวทั้งหมด 5,576 คนในเมียนมาตั้งเเต่เกิดรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์
จึงไม่น่าเเปลกใจว่าสมาคมอาเซียนจึงเจอเเรงกดดันเพิ่มขึ้นให้ใช้มาตรการที่เด็ดขาดกว่าเดิมต่อเมียนมา
นักวิเคราะห์กล่าวว่าอาเซียนดูจะเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องเหล่านั้น สาเหตุมีทั้งที่มาจากจุดยืนร่วมที่ต้องการรักษาความเป็นกลาง โดยประเทศสมาชิกไม่ต้องการเเทรกเเซงกิจการในประเทศกันเเละกัน
อีกประการหนึ่ง การกดดันเมียนมาเรื่องสิทธิมนุษยชน อาจทำให้แสงสปอตไลท์ถูกฉายมายังประเทศผู้ดำเนินมาตรการกดดันเสียเอง
ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ถ้าอาเซียน “ข้ามเส้น” กันในเรื่องกิจการภายใน จะเป็นเหตุการณ์ที่บริหารจัดการยาก เพราะ รัฐบาลของประเทศอาเซียนส่วนใหญ่มีสิ่งที่ไม่อยากถูกพูดถึงเช่นกัน
ผู้สื่อข่าววีโอเอ ราล์ฟ เจนนิ่งรายงานว่าไทย กัมพูชา เวียดนาม ลาว และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นห้าในสิบประเทศสมาชิกอาเซียน ต่างถูกกล่าวหาว่ามีปัญหาในประเด็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
หลังจากเกิดรัฐประหารในเมียนมา สองประเทศที่มีพรมเเดนติดกับเมียนมา คือจีนและบังคลาเทศเรียกร้องให้อาเซียนออกมาเคลื่อนไหว และสหประชาชาติเสนอให้ใช้มาตรการลงโทษด้วยการไม่ขายอาวุธให้เมียนมา ซึ่งการกระทำดังกล่าวถูกประท้วงโดยประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน
สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่าผู้บริหารสมาคมอาเซียนมีกำหนดที่จะเดินทางไปเมียนมาเพื่อหารือถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้
ในอดีต มีตัวอย่างที่เห็นว่าประเทศสมาชิกอาเซียนมักไม่ก้าวก่ายเรื่องภายในของประเทศสมาชิกอื่น เเละมุ่งเน้นความสัมพันธ์ซึ่งกันเเละกันในเรื่องการค้า การท่องเที่ยวเเละการรับมือโคโรนาไวรัส
หากเปรียบเทียบกับกลุ่มการรวมตัวกันประเทศในภูมิภาคอื่น โอ ไอ ซัน นักวิเคราะห์อาวุโสแห่ง Institute of International Affairs ที่สิงคโปร์กล่าวว่า อาเซียนเป็นสมาคมที่ไม่ค่อยมีอำนาจ
ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้กล่าวว่า เมื่อครั้งที่เกิดรัฐประหารในประเทศของสมาคมเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก Economic Community of West African States ประเทศสมาชิกใช้มาตรการลงโทษต่อผู้ก่อรัฐประหาร
สำหรับกรณีของเมียนมา อินโดนีเซียเคยเคลื่อนไหวกดดันเมียนมาบ้าง โดยที่อินโดนีเซียเคยรับผู้อพยพชาวโรฮิงญาจากเมียนมาก่อนหน้านี้ และหากเกิดความไม่สงบในเมียนมามากขึ้น อาจมีผู้คนอพยพมาอินโดนีเซียเพิ่ม
อาจารย์อเล็กซานเดอร์ วูวิ่ง แห่งศูนย์ Daniel K. Inouye Asia-Pacific Center for Security Studies ที่รัฐฮาวายกล่าวว่า หากความรุนเเรงในเมียนมาทวีขึ้น อาเซียนน่าจะอยู่นิ่งได้น้อยลง
เเต่อย่างไรก็ตามเขากล่าวว่า เนื่องจากอาเซียนยึดมั่นในการสร้างฉันทามติ สมาคมประชาชาติแห่งนี้จึงไม่ได้มีทางเลือกที่มากไปกว่าการนั่งคุยเจรจากันนั่นเอง