เทศบาลนครเซี่ยงไฮ้พยายามหาทางแก้ปัญหาสุนัขข้างถนนและโรคกลัวน้ำที่เริ่มมีมากขึ้นด้วยการบังคับใช้ “หนึ่งสุนัข หนึ่งครอบครัว” อย่างเข้มงวดกวดขันมากขึ้น คำถามก็คือ ทำไมเรื่องนี้จึงเป็นปัญหาถึงขนาดต้องนำกฎที่ว่านี้มาใช้อย่างจริงจัง
ทางการนครเซี่ยงไฮ้กล่าวว่า มีสุนัขราวๆ 800,000 ตัวอยู่ในเมือง ซึ่งมีประชากรประมาณ 23 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีสุนัขเพียง 140,000 ตัวเท่านั้นที่ขึ้นทะเบียนไว้ ในขณะเดียวกัน สื่อของทางการจีนรายงานไว้เมื่อปีค.ศ. 2006 ว่า ในแต่ละปี มีผู้ถูกสุนัขกัดอย่างน้อย หนึ่งแสนรายในเซี่ยงไฮ้ และมีผู้เสียชีวิตเพราะโรคกลัวน้ำในประเทศจีนโดยรวมปีละราวๆ 2,500 คน
กฎที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมมีทั้งสิ่งจูงใจและการลงโทษ ที่เป็นการจูงใจคือ การขึ้นทะเบียนสุนัขลดลงจากปีละ 2,000 หยวน หรือราวๆ 300 ดอลล่าร์ ลงมาเหลือเพียง 500 หยวน หรือ 77 ดอลล่าร์ ค่าฉีดวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำก็ถูกลง รวมทั้งค่าตอนด้วย แต่ค่าปรับสำหรับเจ้าของที่ไม่สนใจดูแลเพื่อนสี่ขา ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีน การตอนเพื่อช่วยจำกัดจำนวนสุนัข การเก็บมูลสุนัข และการรังแกหรือทอดทิ้งสุนัขที่เลี้ยงไว้ เพิ่มขึ้นมาก
ตามความเป็นจริง กฎเทศบาลเรื่องสุนัขนี้ มีมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1993 แล้วตามเมืองใหญ่ๆของจีน รวมทั้ง กรุงปักกิ่งและกวางเจา แต่ไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง
เมื่อทางการนครเซี่ยงไฮ้ประกาศจะเอาจริงในเรื่องนี้ขึ้นมา ก็มีการแสดงความคิดเห็นกันต่างๆนาๆ บ้างก็ให้ความเห็นว่า การมีสุนัขเลี้ยงเพิ่มจำนวนมากขึ้น เป็นดัชนีหนึ่งที่แสดงถึงความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของจีน และความตื่นตัวในเรื่องสิทธิของสัตว์ ซึ่งเพิ่มมากขึ้นถึงขั้นมีการประจันหน้ากันในกรุงปักกิ่งเมื่อไม่นานมานี้ ระหว่างผู้รักที่จะเลี้ยงสุนัขกับผู้รักที่จะรับประทานสุนัข เมื่อมีการขนส่งสุนัขหลายร้อยตัวจะเอาไปส่งตามร้านอาหาร และลงเอยด้วยการที่ผู้รักที่จะเลี้ยงสุนัขรวบรวมเงินซื้อสุนัขเหล่านั้นมาได้
และก็มีคนที่ให้ความเห็นว่า ในขณะที่เป็นเรื่องจำเป็นในแง่ของสุขภาพอนามัยและความปลอดภัย กฎที่ว่านี้ ทำให้คิดถึงนโยบายควบคุมประชากรของจีนที่กำหนดให้แต่ละครอบครัวมีลูกได้คนเดียว
ซึ่งทำให้ต้องถามตามต่อด้วยว่า เมื่อแต่ละครอบครัวสามารถมีสุนัขได้เพียงตัวเดียวอย่างนี้ แล้วจะเลี้ยงอย่างตามใจจนเป็นสุนัขทูนหัว เหมือนกับลูกคนเดียวหรือเปล่า