ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกนั้น จะส่งผลกระทบกับขั้วโลกเหนือมากกว่าปกติถึง 2 เท่า สิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ต้องปรับตัวกับสภาพอากาศที่อุ่นขึ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะกวางคาริบูที่ต้องเจอกับคู่ปรับอย่างยุงขั้วโลกเหนือ ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ
ฤดูร้อนบนเกาะกรีนแลนด์ เป็นช่วงเวลาอันแสนสั้นและแสนสุขของสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ ที่จะได้สัมผัสกับช่วงเวลากลางวันอันยาวนาน ก่อนฤดูหนาวอันโหดร้ายในแถบขั้วโลกเหนือจะคืบคลานเข้ามา
สรรพสัตว์ต่างออกมารับแสงแดดกันอย่างคึกคัก ทั้งกระต่ายน้อยที่ชื่นชมธรรมชาติ กวางคาริบูที่ออกมาเล็มหญ้า และคู่ปรับตัวฉกาจของกวางชนิดนี้ คือ ฝูงยุงนับล้านในฤดูร้อน
Lauren Culler นักนิเวศน์วิทยาจาก Dartmouth College ได้ศึกษาความเชื่อมโยงของสิ่งมีชีวิตใน แหล่งน้ำต่างๆ ในแถบขั้วโลกเหนือ พบว่า ทุกๆ ปีที่น้ำแข็งละลาย จะเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดของยุงและแมลงปีกแข็งในแถบขั้วโลก
Lauren บอกด้วยว่า แมลงปีกแข็งจะออกล่าตัวอ่อนของยุงเสมือนกับแมงมุมล่าเหยื่อ มันจะพ่นเอ็นไซม์ที่ย่อยอาหารลงไปที่เหยื่อ ก่อนจะดูดกลืนตัวอ่อนของยุงที่ถูกล่าเหล่านั้นกลับไปในที่สุด
อีกฟากหนึ่ง ฝูงยุงมหาศาลก็ต้องเอาชีวิตรอดจากแหล่งน้ำ และดูดเลือดของสัตว์ต่างๆ เป็นอาหาร รวมทั้งกวางคาริบูด้วย ทำให้กวางคาริบู เป็นเหยื่ออันโอชะ ที่ถูกฝูงยุงหลากหลายชนิดรุมดูดเลือด จนต้องหนีไปจากทุ่งหญ้า และหมดโอกาสกักตุนอาหารเพื่อรับมือกับฤดูหนาวที่ขาดแคลน
นักนิเวศน์วิทยาจาก Dartmouth College เชื่อว่า ภาวะโลกร้อนอาจให้ผลในเชิงบวกกับกวางคาริบูได้ เนื่องจากอากาศที่อบอุ่นขึ้น จะทำให้แมลงปีกแข็งกินยุงมีความต้องการกินยุงมากขึ้นในแต่ละวัน ช่วยลดโอกาสที่ยุงจะรบกวนวิถีชีวิตของกวางคาริบูได้มากขึ้น
แต่ในความจริง กลับเป็นชัยชนะของฝูงยุงมากกว่าฝูงกวางคาริบู เพราะในอุณหภูมิบนเกาะกรีนแลนด์ที่สูงขึ้น ทำให้ยุงเจริญเติบโตรวดเร็วขึ้น 3-4 วัน และมีโอกาสรอดชีวิตจากแมลงปีกแข็งได้มากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติไม่ได้จัดสรรแมลงปีกแข็งมาให้เป็นศัตรูของยุงเพียงอย่างเดียว เพราะยังมีแมงมุมที่คอยควบคุมปริมาณยุงที่เพิ่มขึ้นตามแหล่งน้ำในทุ่งหญ้าขั้วโลกเหนืออีกทางหนึ่งด้วย
นักวิทยาศาสตร์ บอกว่า ระบบนิเวศน์ของทุ่งหญ้าขั้วโลกเหนือ ซึ่งถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งแทบทั้งปีนี้ มีความเรียบง่ายกว่าระบบนิเวศน์ในพื้นที่ที่อุ่นกว่า
และการศึกษาความสัมพันธ์เชื่อมโยงสิ่งมีชีวิตต่างๆในระบบนิเวศน์ของทุ่งหญ้าเขตหนาวนี้ จะช่วยให้เข้าใจได้มากขึ้นถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อพื้นที่อื่นๆของโลกด้วย