การศึกษาฉบับใหม่ชี้ให้เห็นว่านาฬิกา Apple Watch สามารถระบุอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับสภาวะโรคหัวใจที่รุนแรงได้
ผู้ใช้นาฬิกา Apple Watch กว่า 400,000 คนเป็นอาสาสมัครเข้าร่วมการศึกษาครั้งนี้ ซึ่งเป็นโครงการของนักวิจัยที่คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
Apple บริษัทเทคโนโลยีอเมริกัน เป็นผู้มอบทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัยครั้งนี้ และผลลัพธ์จากการศึกษาถูกนำเสนอในที่ประชุมใหญ่เรื่องสุขภาพหัวใจที่รัฐนิวออร์ลีนส์
นักวิจัยค้นหาสัญญาณของหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเป็นรูปแบบของการเต้นของหัวใจผิดปกติที่พบบ่อยที่สุด สภาวะดังกล่าวเรียกว่า "a-fib" เป็นผลมาจากการยิงสัญญาณไฟฟ้าที่ผิดปกติในห้องบนของหัวใจ
ผู้ที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะจะรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของการเต้นของหัวใจตัวเอง ในขณะที่คนอื่นไม่สามารถรู้สึกได้ ด้วยเหตุนี้เองหลายๆ จึงคนไม่ทราบว่าตัวเองมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ
ผู้ที่มีสภาวะ a-fib ที่ไม่ได้รับการรักษาจะมีโอกาสเกิดภาวะเส้นโลหิตอุดตันในสมองมากกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า และในสหรัฐ a-fib ทำให้มีผู้เสียชีวิตราวปีละ 130,000 คน และเข้าโรงพยาบาล ปีละ 750,000 คน
อาสาสมัครที่เข้าร่วมในการศึกษานี้สวมนาฬิกา Apple Watch เป็นระยะเวลานานในช่วงปี พ.ศ. 2560 และ 2561 นาฬิกาดังกล่าวมีแอพที่รวบรวมข้อมูลอย่างต่อเนื่องโดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องทำอะไรเลย แต่จะใช้เทคโนโลยีแสงเซ็นเซอร์ของนาฬิกาเพื่อวัดการไหลเวียนของเลือด ระบบนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยระบุการเปลี่ยนแปลงที่อาจแสดงการเต้นผิดปกติของหัวใจ
นักวิจัยกล่าวว่า จากจำนวนอาสาสมัครทั้งหมด มีอยู่ประมาณ 2,000 คนที่ได้รับคำเตือนจากอุปกรณ์ว่าอาจมีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ
อาสาสมัครเหล่านั้นได้รับคำแนะนำให้ติดต่อแพทย์ ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าพวกเขาควรได้รับแผ่นแปะที่หน้าอกเพื่อเฝ้าดูการเต้นของหัวใจว่าผิดปกติหรือไม่ แผ่นแปะดังกล่าวใช้เทคโนโลยีบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography หรือ ECG)
การศึกษาพบว่าผู้ที่ได้รับคำเตือนว่ามีอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติกำลังประสบกับภาวะ a-fib หรือภาวะหัวใจห้องบนเต้นผิดปกติในเวลานั้น และ 1 ใน 3 ของผู้ที่ได้รับคำเตือนและใช้แผ่นแปะวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจตรวจพบภายหลังว่ามี a-fib
นักวิจัยกล่าวว่า โดยรวมแล้วราว 57% ของอาสาสมัครที่เข้าร่วมในการศึกษานี้ได้พบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา
Lloyd Minor หัวหน้าคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Stanford แถลงว่า ผลลัพธ์จากการศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่ดีในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์การดูแลรักษาสุขภาพที่สามารถคาดการณ์และป้องกันได้
แต่นักวิจัยด้านสุขภาพบางคนเตือนว่า ไม่ควรด่วนตัดใจสินใจจากการศึกษาที่ Apple เป็นผู้ให้เงินทุนสนับสนุนเพียงอย่างเดียว และเรียกร้องให้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อวัดประสิทธิภาพของอุปกรณ์ที่สวมใส่นี้ว่าสามารถระบุชี้สัญญาณของโรคหัวใจได้จริงหรือไม่