แสงเทียน ดอกไม้ และป้ายข้อความ เรียงรายเป็นแนวยาวสว่างไสวในช่วงค่ำคืน ที่สวนสาธารณะ แอลมันซอร์ (Almansor Park) ชานนครลอส แอนเจลิส รัฐเคลิฟอร์เนีย คือสัญลักษณ์การร่วมรำลึกและไว้อาลัยต่อชาวเชื้อสายเอเชียที่ตกเป็นเหยื่อถูกกระทำหรือเสียชีวิตจากเหตุอาชญากรรมความเกลียดชัง ที่ผู้ร่วมชุมนุมในกิจกรรมร่วมจุดเทียนปลุกกระแสหยุดความเกลียดชังชาวเอเชีย (Stop Asian Hate Candlelight Vigil) จัดขึ้นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
Jireh Deng ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย เป็นหนึ่งในผู้ขึ้นแลกเปลี่ยนและกล่าวในที่ชุมนุม บอกว่า ในฐานะผู้หญิงชาวเอเชีย เธอต้องการที่จะกล่าวแสดงจุดยืนต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับผู้หญิงชาวเอเชีย จากเหตุคนร้ายกราดยิง ที่นครแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเธอเสียใจและโกรธ ที่มีผู้หญิงชาวเอเชียตกเป็นเหยื่อของคมกระสุนถึง 6 ราย
“ในฐานะของการเป็นผู้หญิงเชื้อสายเอเชีย ตลอดชีวิตของฉันจะออกมาเรียกร้องเมื่อต้องเผชิญกับความรุนแรงทุกครั้ง ฉันรู้สึกหงุดหงิด และโกรธมากๆ ที่ คนผิวขาวซึ่งมีความคิดสุดโต่งคนหนึ่ง คิดเพียงว่าหญิงชาวเอเชียเป็นเหมือนสิ่งของที่ใช้แล้วทิ้ง ไม่มีใครสนใจ แต่ฉันมาที่นี่เพื่อจะบอกว่าชีวิตของพวกเธอนั้นมีค่ามาก”
เช่นเดียวกับ Richard Dang ที่ร่วมกิจกรรมนี้เพื่อไว้อาลัยแด่เหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงที่นครแอตแลนตา ขณะเดียวกันก็ขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมส่งเสียงในฐานะชาวเอเชียนอเมริกันเพื่อต่อต้านความรุนแรงและอาชญากรรมต่อชาวเอเชีย
ขณะที่ ความรู้สึกส่วนหนึ่งของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ที่เดินทางไปร่วมชุมนุม พูดคุยกับ 'วีโอเอ ไทย'
“เหตุผลที่ฉันมาที่นี่เพื่อให้การสนับสนุน และร่วมรับฟังอย่างจริงจัง ทำความเข้าใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะเป็นแนวร่วมกับทุกๆคนได้มากขึ้น”
Kendall Fletcher ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย
“ผมกลัวจริงๆ ว่าจะเกิดขึ้นกับครอบครัวของผม ผมกลัวว่าจะเลี้ยงดูลูกๆของผมโตขึ้นไปอย่างไรที่นี่ ผมไม่อยากเชื่อว่าเราจะอยู่ในสังคมแบบนี้ในปัจจุบัน มันเหมือนกับย้อนเวลาไปในปี ค.ศ.1968 (ปีแห่งการเรียกร้องสิทธิพลเมืองในสหรัฐฯ)..” Paolo Magcalas ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย
“เราต้องส่งเสียงเรียกร้อง เพราะว่าคนเอเชียส่วนใหญ่มักไม่พูด ไม่แสดงออก แม้ว่าจะถูกคนอื่นรบกวนเอารัดเอาเปรียบ ตำรวจเราก็ไม่ไปแจ้งความ ปล่อยผ่านไป ไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ ทำให้พวกเขาใช้จุดนี้เพื่อเอาเปรียบคนเอเชีย” วัยรุ่นหญิงชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย
“ฉันรู้สึกเจ็บปวดในหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในชุมชนชาวเอเชียของเรา ฉันจึงมาที่นี่ เพื่อสนับสนุน และเผื่อแผ่ความรักไปยังทุกคน บอกกับทุกคนว่า เราเป็นคนเอเชีย เราคือเพื่อนของทุกคน เราไม่มีอะไรที่เลวร้าย อย่างที่พวกคุณคิด เราเผื่อแผ่ความรักให้ยังทุกคน” Vivian Tse ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย
วีโอเอ ไทย ได้พูดคุย กับ Ashley หรือ อัญชลี Alexander ลูกครึ่งไทยอเมริกัน ที่บอกถึงความคับข้องใจที่เธอรู้สึกได้ในยามที่เห็นผู้คนรอบข้างนิ่งเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวเอเชีย
“ไม่มีใคร (ในกลุ่มเพื่อนอเมริกัน)พูดถึงเรื่องนี้เลยในสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อนอเมริกันของฉันไม่มีใครถามฉันเลยว่าฉันโอเคหรือเปล่า? ฉันก็เลยคิดว่าน่าจะลดความคาดหวังลงมาแค่ตัวฉันก็พอ เมื่อไม่มีใครสนใจเรื่องนี้ หรืออาจจะเป็นเพราะไม่ใช่เรื่องสำคัญมากพอ และ (ความรุนแรงต่อคนเอเชีย) คือสิ่งที่อยู่ในใจแต่ละคน และมันก็เป็นเรื่องใหญ่มาก เรามีสิทธิ์อย่างเต็มที่ในความหงุดหงิด หรือโกรธ เพราะว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้น อาจจะเกิดกับคุณลุง คุณตา หรือญาติของเราได้ทุกคน
การรวมตัวของกลุ่มคนที่มีจุดยืนเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม และหยุดกระแสความเกลียดชังที่มีต่อชาวเอเชีย ได้รับความสนใจ และมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์แล้ว และมีผู้คนเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆอย่างเห็นได้ชัด
กิจกรรมรณรงค์ที่ใช้ชื่อ Love Our Communities, Stop Asian Hate ที่หลายองค์กรของเอเชียร่วมกันจัดขึ้นในย่านชุมชนชาวญี่ปุ่น หรือ Little Tokyo ใจกลางนครลอส แอนเจลิส ที่จัดขึ้นก่อนหน้านี้ก็มีผู้คนจากหลายเชื้อชาติเดินทางไปร่วมอย่างคึกคัก
วลัยพรรณ เกษทอง ชาวไทยในนคร ลอส แอนเจลิส เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนร่วมกล่าวปราศรัยในกิจกรรมครั้งนี้ในฐานะคนไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเอเชียในอเมริกา
“เรามาแสดงถึงพลังของคนไทย แล้ว เราต้องการให้เขาเห็นว่า ชุมชนไทยเราเป็นส่วนหนึ่งของคนเอเชีย ซึ่งอย่างที่บอกคนเอเชีย (ในอเมริกา) เรามีคนจำนวนน้อย ถ้าเราไม่อยู่รวมกัน ไม่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ก็คงยากที่จะสร้างการรับรู้ในเรื่องนี้ของชุมชน เราได้มาเห็นถึงคนหลากหลายที่นี่ ไม่ใช่เฉพาะคนเอเชียอย่างเดียว เห็นมีคนผิวดำ คนผิวขาว มีหลายๆคนที่สนับสนุนพวกเราเยอะมาก ได้ทราบเรื่องของหลายๆคนที่ประสบเหตุและประสบปัญหาหลายๆอย่าง มันทำให้รู้สึกว่าเราอยู่ในชุมชนจริงๆ เราไม่ได้ต่อสู้อยู่คนเดียว และมีคนที่เขามีคนที่ประสบปัญหาเหมือนกับเรา ทำให้รู้สึกว่ามีแรงสนับสนุน มีแรงกำลังใจ ชุมชนได้เข้ามาอยู่รวมกัน”
เช่นเดียวกับ 'แทนนี่ จิระประภาสุข' ชาวไทยในนครลอส แอนเจลิส ที่ขึ้นกล่าวแบ่งปันประสบการณ์และความรู้สึก หลังเป็นกรณีแรกๆที่ตกเป็นเหยื่อการเหยียดคนเชื้อสายเอเชียบนรถขนส่งมวลชนเมื่อต้นปีก่อน
“แม้แต่ตัวเองที่รู้สึกคับข้องใจ (frustrated) ที่เราเห็นเหตุผลชัดๆไม่ได้ เพราะว่าปีที่แล้วเขาก็จะบอกว่า เหตุที่เกิดขึ้นเพราะ โดนัลด์ ทรัมป์ เขาใช้คำว่า ‘ไชน่าไวรัส’ หรือ ‘Kang Flu’ ทุกคนใช้เหตุผลนั้น แต่ตอนนี้ ทรัมป์เขาไม่ได้มีเสียงออกมาแล้ว มันเหมือนกับเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้นคือไม่เข้าใจว่าเหตุผลทำไม ไม่รู้ หรือเพราะอะไร ว่าความจริงๆแล้วคนเขาไม่ได้ยอมรับคนเอเชียตั้งแต่เริ่มต้นเลยหรือเปล่า เราก็ไม่เข้าใจ”
การรวมกลุ่มจัดกิจกรรม เรียกร้องและต่อต้านความเกลียดชังชาวเอเชีย ยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องในหลายเมืองใหญ่ทั่วสหรัฐฯ สิ่งเหล่านี้สะท้อนได้อย่างชัดเจนถึงปัญหาการคุกคาม หรือก่อความรุนแรงต่อชาวเอเชียในสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา โดยมีข้อมูลจากองค์กร STOP AAPI Hate หรือ องค์กรยุติความเกลียดชังต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิก ที่พบว่า คนอเมริกันเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ ตกเป็นเป้าของการถูกคุกคามหรือทำร้ายเนื่องจากความเกลียดชังด้านเชื้อชาติหรือสีผิว มากกว่า 3,800 ครั้ง ภายในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งปี