นักวิเคราะห์ให้ความเห็น หลังมีรายงานข่าวว่าจีนจะนำเตาปฏิกรณ์พลังงานนิวเคลียร์ลอยน้ำมาประจำในจุดที่อ้างว่าเป็นของตนในทะเลจีนใต้ โดยระบุว่าหากเกิดขึ้นจริง ก็เสี่ยงที่จะยกระดับข้อพิพาทระหว่างคู่ขัดแย้ง ที่อาจมีปัจจัยเรื่องนิวเคลียร์และมหาอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง
สำนักข่าวเดอะวอชิงตันโพสท์ รายงานเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ว่า จีนมีแผนจะจัดส่งเตาปฏิกรณ์พลังงานนิวเคลียร์แบบลอยน้ำจำนวน 20 ชุด ไปยังหมู่เกาะต่าง ๆ ในทะเลจีนใต้ที่รัฐบาลปักกิ่งอ้างอธิปไตยจนกลายเป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศกับมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่ก็อ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่เหล่านี้เช่นกัน
ปราทนัชรี บาซู จากโครงการ Observer Research Foundation’s Strategic Studies Programs ประเทศอินเดีย กล่าวกับวีโอเอว่า หากจีนลงมือปฏิบัติตามข่าวจริง ก็จะเป็นการเสริมสร้างอำนาจการยึดกุมพื้นที่เกาะเทียมที่จีนสร้างและใช้ประโยชน์ในทางทหาร
แต่อีกด้านหนึ่ง ก็จะเป็นความท้าทายโดยตรงต่อคู่กรณีในพื้นที่ เพราะประเทศที่เป็นคู่พิพาทสามารถใช้กฎหมายหรืออ้างอำนาจอธิปไตยของตนเพื่อขอตรวจสอบกิจกรรมทางนิวเคลียร์ในทะเลจีนใต้ เช่น กฎหมายพลังงานปรมาณูของเวียดนาม หรือกฎหมายทางทะเลที่ฟิลิปปินส์อาจจะนำมาอ้างได้
บาซูกล่าวว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำจะช่วยให้จีนสามารถสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งได้มากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการตั้งฐานทัพของจีนในแถบนี้ และเสริมว่า “การมีแหล่งพลังงานที่สม่ำเสมอยังจะเสริมศักยภาพในการการสอดส่องตรวจตรา และการตอบสนองอย่างฉับพลันทันด่วนด้วย”
จีนอ้างอธิปไตยเหนือพื้นที่แทบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ และปฏิเสธคำพิพากษาของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรในข้อพิพาททะเลจีนใต้เมื่อปี 2016 ว่าไม่มีมูลในทางกฎหมาย และนับตั้งแต่ปี 2014 จีนได้สร้างเกาะเทียมในบางพื้นที่ของหมู่เกาะสแปรตลีย์ ซึ่งเวียดนามและฟิลิปปินส์ต่างกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เช่นกัน
ฮา ฮวง ฮอป จากสถาบัน ISEAS Yusof Ishak Institute ประเทศสิงคโปร์ กล่าวกับวีโอเอว่า เวียดนามจะไม่ยอมอยู่นิ่งอย่างแน่นอน หากมีการติดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่พิพาทอย่างหมู่เกาะสแปรตลีย์หรือพาราเซล เพราะเป็นการละเมิดอธิปไตยของรัฐบาลกรุงฮานอย
ฮา ฮวง ฮอป ระบุว่า “ถ้าหากมีการนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปใช้เพื่อกิจกรรมทางการทหาร เช่น สงครามด้านการไฟฟ้า การลาดตระเวน การตรวจตราน่านฟ้า สงครามโดรน หรืออื่น ๆ ก็จะเป็นภัยคุกคามอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงในพื้นที่” และกล่าวด้วยว่า หากสภาพการณ์เป็นเช่นนั้น ชาติคู่กรณีอื่นก็อาจพิจารณาถึงการนำพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์มาติดตั้งในพื้นที่บ้าง โดยอาจจะเช่ามาจากชาติตะวันตกหรือรัสเซียก็ได้
เรย์มอนด์ เพาเวลล์ จากศูนย์ Gordian Knot Center for National Security Innovation มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า จีนคงจะไม่ตอบสนองต่อแรงกดดันจากภายนอกหากว่าตั้งใจจะใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทะเลจีนใต้ และเขาก็ไม่แน่ใจว่าการทำเช่นนั้นจะละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศชุดใดหรือไม่
บาซูมีข้อเสนอแนะว่า ประเทศที่เป็นคู่พิพาท และสหรัฐฯ ควรแสดงออกถึงความกังวลในเรื่องนี้ผ่านเวทีอาเซียนและเวทีภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อแสวงหาแนวทางรับมือร่วมกัน รวมถึงส่งแรงกดดันไปยังจีนผ่านการร่วมมือกับองค์กรนานาชาติด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย
“ประเทศต่าง ๆ ควรท้าทายการติดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลอยน้ำในน่านน้ำพิพาทผ่านศาลหรือตุลาการระหว่างประเทศ เพื่อให้มีคำพิพากษาที่สามารถจำกัดหรือควบคุมปฏิบัติการของพวกเขา (จีน)” บาซูกล่าว
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น