นักวิเคราะห์ชี้ รัฐบาลกรุงปักกิ่งมีแนวโน้มจะใช้สงครามอิสราเอล-ฮามาสเพื่อเพิ่มอิทธิพลของตนเองในระดับโลก ในขณะที่ลดทอนอิทธิพลของสหรัฐฯ
นับตั้งแต่ความขัดแย้งในตะวันออกกลางระลอกล่าสุดปะทุขึ้น จีนได้โจมตีบทบาทของสหรัฐฯ ผ่านช่องทางสื่อของตนตลอด โดยระบุว่าความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ ที่มีให้แก่อิสราเอลเพียงด้านเดียว จะยิ่งเติมเชื้อไฟให้กับความตึงเครียดและวิกกฤตมนุษยธรรมในภูมิภาค
สื่อของทางการจีน โกลบอล ไทม์ อ้างอิงข้อความจากผู้เชี่ยวชาญชาวจีน ที่ระบุว่า “หากวอชิงตันต้องการจะบรรเทาภาวะวิกฤต ก็ควรจะนำทั้งสองฝ่ายมานั่งลงและเจรจากัน”
เดนนิส วิลเดอร์ อดีตผู้อำนวยการ (ผอ.) สภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กล่าวว่า “จีนกำลังใช้วิกฤตเพื่อเสริมสร้างโฆษณาชวนเชื่อในประเทศ และป้ายสีสหรัฐฯ ว่าสนับสนุนอิสราเอล และปฏิเสธสิทธิของชาวปาเลสไตน์ในรัฐของตนเอง”
เดวิด แซตเตอร์ฟิลด์ ผอ. สถาบันเพื่อนโยบายสาธารณะเบเคอร์ มหาวิทยาลัยไรซ์ กล่าวว่า จีนนั้นคอยแสวงหาโอกาสที่จะนำเสนอชุดความคิดด้านการต่างประเทศของตนต่อนานาชาติเสมอ และคอยแสวงหาหุ้นส่วนและพันธมิตรกับประเทศที่ไม่ใช่ประเทศพัฒนาแล้ว หรือที่เรียกกันว่า “ประเทศโลกใต้ (Global South)” อยู่ตลอด
แซตเตอร์ฟิลด์ ที่เคยดำรงตำแหน่งรักษาการผู้ช่วยเลขานุการด้านกิจการตะวันออกใกล้ ในยุครัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า “จีนค่อนข้างจะทำได้ดีในเรื่องนี้ ในเชิงของการแสดง และในเชิงประจักษ์” แต่ในทางความเป็นจริงนั้น “ในความขัดแย้งนี้ ผมขอพูดว่าในเชิงภูมิภาคตะวันออกกลางในทางกว้าง จีนมีอิทธิพลน้อยมาก ๆ”
แซตเตอร์ฟิลด์เพิ่มเติมด้วยว่า นโยบายไม่แทรกแซงกิจการของชาติอื่นนั้น กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้จีนไม่สามารถเป็นผู้เล่นคนสำคัญในเวทีโลก เพราะจีนเกรงว่าการมีท่าทีอะไร ก็อาจจะไปขัดแย้งกับหลักข้างต้น และสักวันแนวทางนี้จะส่งผลกระทบกับจีน
ในการแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน หวัง เหวินปิน เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายในวิกฤตที่ฉนวนกาซ่าให้หยุดความรุนแรง ประณามความรุนแรงต่อพลเรือน และ “หลีกเลี่ยงการยกระดับขึ้นไปอีก”
หวัง ไม่ได้ออกชื่อกลุ่มฮามาสในการประณาม และระบุว่า รัฐบาลกรุงปักกิ่งพร้อมที่จะพูดคุยและประสานงานกับสันนิบาตอาหรับ (Arab League) องค์กรความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่ตะวันออกกลาง
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังคงไม่มีความเห็นที่มีนัยสำคัญในประเด็นอิสราเอล-ฮามาส แต่นักการทูตจีนนั้นได้มีการพูดคุยกับชาติอื่นในเรื่องข้างต้นแล้ว
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ไจ๋ จุ้น ทูตพิเศษจีนประจำตะวันออกกลาง ได้โทรศัพท์พูดคุยกับโอซามา เคเดอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอียิปต์ ที่ดูแลกรมปาเลสไตน์ และได้เสนอว่าจะส่งเสริมการหยุดยั้งความรุนแรงและการหยุดยิง
หวัง เหวินปิน ได้กล่าวในระหว่างการแถลงข่าววันศุกร์ด้วยว่ารัฐมนตรีว่าการ (รมว.) ต่างประเทศของจีน หวัง อี้ ได้โทรศัพท์หารือเรื่องความขัดแย้งกับเซลโซ ลูอิส นูเนส อะโมริม หัวหน้าที่ปรึกษาของประธานาธิบดีบราซิลในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
วีโอเอภาคภาษาเกาหลี ได้ติดต่อสอบถามกระทรวงการต่างประเทศจีนว่า เหตุใดที่จีนวิจารณ์การสนับสนุนอิสราเอลของสหรัฐฯ แต่ไม่ประณามกลุ่มฮามาสที่กระทำการโจมตี ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระลอกใหม่ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ
สตีฟ ซาง ผอ.สถาบันด้านจีน แห่งวิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา (SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวว่า “การปฏิเสธที่จะประณามฮามาส เท่ากับจีนส่งสัญญาณว่าอยู่ข้างเดียวกับประเทศโลกใต้ แต่ผลดีที่เกิดขึ้นจากการเสริมแรงสนับสนุนประเทศโลกใต้ ยังคงเป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถาม”
ทูเวีย เกอริง นักวิจัยจากศูนย์นโยบายอิสราเอล-จีน จากสถาบันความมั่นคงศึกษาแห่งชาติ เมืองเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล กล่าวว่า “จีนจะทำทุกอย่างเพื่อเลี่ยงที่จะถูกดึงเข้าไปในความขัดแย้งนี้ และรักษาสถานภาพความเป็นกลางที่หลอกลวงเอาไว้”
การสู้รบในยูเครนและตะวันออกกลาง ทำให้ประเทศพันธมิตรในเอเชียต่างกังวลว่า รัฐบาลวอชิงตันจะหันเหความสนใจออกไปจากภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งจะเป็นช่องว่างให้จีนเข้ามาฉวยโอกาส
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการสภาคองเกรส ได้ออกรายงานเรื่องท่าทีเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ซึ่งเน้นย้ำว่า ในช่วงปี 2027-2035 รัฐบาลกรุงวอชิงตัน ต้องตั้งใจเตรียมการเพื่อป้องปรามและเอาชนะศัตรูหลายชาติ ยกตัวอย่างเช่น จีน อิหร่าน เกาหลีเหนือ และรัสเซีย
ในที่ประชุมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันพุธที่ผ่านมา รมว.กลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน กล่าวว่า สหรัฐฯ สามารถส่งกำลังและทรัพยากรไปสู้กับวิกฤตในหลายพื้นที่ได้พร้อมกันในขณะที่สนับสนุนอิสราเอลและยูเครน
แกรนท์ รัมลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงจากสถาบันวอชิงตัน โดยมูลนิธิ Diane and Guilford Glazer Foundation กล่าวว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้องแสดงให้จีนเห็นว่าสามารถสนับสนุนอิสราเอล ยูเครน และไต้หวันได้ในเวลาเดียวกัน
นักวิเคราะห์บางรายระบุว่าวิกฤตในกาซ่าอาจสร้างความได้เปรียบให้กับสหรัฐฯ ในการแข่งขันอิทธิพลกับจีนได้เช่นกัน
โรเบิร์ต ฟอร์ด ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสจากสถาบัน Middle East Institute in Washington อดีตเอกอัครราชทูตในแอลจีเรียและซีเรีย กล่าวว่า “ความสนใจทางการทูตที่เพิ่มขึ้นของอเมริกาต่อตะวันออกกลางและความขัดแย้งระดับใจกลางนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะไปลดช่องว่างที่จีนสามารถเข้ามาแทรกในทางการทูตได้”
มาร์ค เคนเนดี ผอ. Wilson Center's Wahba Institute for Strategic Competition อดีตสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐมินเนสโซตา กล่าวว่า ผลของความยัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาส อาจเป็นสิ่งที่กำหนดท่าทีการแข่งขันในทางยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ จะมีต่อจีน
- ที่มา: VOA
กระดานความเห็น