การแข่งขันด้านการพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีรถขับเคลื่อนอัตโนมัติ มีความคืบหน้าไปมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ทีมวิศวกรกลุ่มหนึ่งกำลังผลักดันเทคโนโลยีพาหนะขับเคลื่อนอัตโนมัติอีกอย่างด้วยเช่นกัน นั่นคือ เรือขับเคลื่อนอัตโนมัติ เพื่อการขนส่งสินค้าและพาหนะขนส่งผู้คนในอนาคต
ระหว่างที่เทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติสำหรับพาหนะทางบกและทางอากาศ กำลังรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ระบบขนส่งทางน้ำแบบขับเคลื่อนอัตโนมัติก็ได้รับความสนใจและพัฒนาไปไม่น้อยหน้าเช่นกัน
ล่าสุด ทีมวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ CSAIL จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT ร่วมกับหน่วยงาน Senseable City Lab ของทางมหาวิทยาลัย ผลักดันโครงการพัฒนาเรือขับเคลื่อนอัตโนมัติ ภายใต้ชื่อ roboat ส่วนผสมของคำว่า robot กับ boat
โครงการ roboat เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2016 มีเป้าหมายในการสร้างกลุ่มเรือที่สามารถขนส่งสินค้าและผู้คนไปตามแม่น้ำอัมสเตล ในกรุงอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์ ดินแดนที่เป็นเกาะล้อมรอบด้วยแม่นํ้าคูคลองเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญในพื้นที่ และทีมงานโครงการ roboat เลือกพิกัดนี้ เพื่อทดสอบว่าเรือขับเคลื่อนอัตโนมัติ จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนในกรุงอัมสเตอร์ดัมและเมืองใหญ่อื่นๆ ดีขึ้นได้
ทีมวิศวกรพุ่งเป้าไปที่ความพยายามในการออกแบบเรือขับเคลื่อนอัตโนมัติ เพื่อขนส่งสินค้าขนาดเล็กในระยะแรก ก่อนที่จะเริ่มออกแบบ Roboat II เพื่อใช้ขนส่งผู้โดยสารได้
แดเนียลา รุส อาจารย์จาก MIT ผู้อำนวยการโครงการ CSAIL บอกว่า เรือขับเคลื่อนอัตโนมัติ Roboat II มีความยาว 2 เมตร กว้าง 1 เมตร และน้ำหนักราว 80 กิโลกรัม ขับเคลื่อนด้วย 4 ใบพัด พร้อมชุดกล้อง เซนเซอร์ มีระบบเรดาร์ LiDAR ซึ่งใช้ระบบแสงเลเซอร์เพื่อทำแผนที่สภาพโดยรอบและวัดระยะทาง ใช้ระบบ machine-learning หรือการเรียนรู้และประมวลผลข้อมูลด้วยตัวเองเหมือนกับรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ
ด้วยรูปลักษณ์ของเรือตัวต้นแบบที่ดูผิวเผินแล้วเหมือนกับแพเล็กๆ สำหรับ 2 ที่นั่งแบบอบอุ่นเป็นกันเอง แต่ Roboat ออกแบบมาไม่เพียงแต่ขนส่งสินค้าและผู้คน แต่ยังสามารถเชื่อมต่อกับ Roboat ลำอื่นๆ เพื่อเคลื่อนที่ไปพร้อมกันได้ด้วย
ในการทดสอบเดินเรือ Roboat II ประสบความสำเร็จในการเดินทางไปตามคูคลองรอบกรุงอัมสเตอร์ดัม ตามระยะทางที่กำหนด ได้อย่างแม่นยำตลอดระยะ 3 ชั่วโมง
ขณะนี้ทีมงานของ MIT เตรียมพัฒนา Roboat รุ่นที่สาม ที่มีความยาวถึง 4 เมตร และออกแบบมาเพื่อรองรับผู้โดยสารได้ถึง 6 คน และเตรียมทดสอบเดินเรือ Roboat กับเส้นทางเดินเรือที่พลุกพล่านขึ้นกว่านี้
นอกจากโครงการเรือขับเคลื่อนอัตโนมัติ Roboat นี้แล้ว ที่ผ่านมามีโครงการทดสอบและพัฒนาเรือขับเคลื่อนอัตโนมัติขนาดใหญ่มาแล้ว อย่างเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการเปิดตัวเรือสำรวจมหาสมุทร Mayflower ที่ตั้งเป้าภารกิจล่องเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก โดยปราศจากกัปตันหรือลูกเรือเป็นครั้งแรก ด้วยความร่วมมือของบริษัทวิจัยทางทะเล ProMare และ IBM โดยจะเริ่มออกเดินทางช่วงเดือนเมษายนปีหน้า
ฝั่งผู้สร้างเรือสำรวจ Mayflower ลำ เชื่อว่ารูปแบบการเดินเรือแบบอัตโนมัติ โดยใช้กัปตันปัญญาประดิษฐ์นี้ จะเป็นหนทางสู่การสำรวจทางทะเลในพื้นที่เสี่ยงอันตรายหรือพื้นที่เข้าถึงยากสำหรับมนุษย์ และเปิดโอกาสสู่การสำรวจทางทะเลที่มากขึ้นในอนาคต