ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘ของเล่นฮีลใจ’ สู้วิกฤตสุขภาพจิตในเด็ก


แฟ้มภาพ - ควินน์ ไบรน์ วัย 5 ขวบ ช็อปของเล่นกับเจมี ไบรน์ คุณแม่ของเธอ ที่ร้าน Learning Express ในเลค ซูริค อิลลินอยส์ เมื่อ 26 ก.ย. 2023 (เอพี)
แฟ้มภาพ - ควินน์ ไบรน์ วัย 5 ขวบ ช็อปของเล่นกับเจมี ไบรน์ คุณแม่ของเธอ ที่ร้าน Learning Express ในเลค ซูริค อิลลินอยส์ เมื่อ 26 ก.ย. 2023 (เอพี)

ท่ามกลางวิกฤตด้านสุขภาพจิตในเด็ก ซึ่งเป็นภัยเงียบที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องคอยสังเกตบุตรหลานและหาทางช่วยแก้ไข ล่าสุดบริษัทของเล่นกำลังเข้ามารับบทบาทใหม่ ในการผลิตของเล่นฮีลใจ ในตระกูลที่เรียกย่อ ๆ ว่า MESH เพื่อให้พวกเขามีความยืดหยุ่นทางอารมณ์ และเสริมสร้างภูมิต้านทานทางจิตใจให้กับเด็ก ๆ ได้อีกทางหนึ่ง

เด็กจำนวนมากขึ้นต้องต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิตหลังการเกิดโรคระบาดใหญ่ บรรดาพ่อแม่จึงต้องพยายามหาวิธีฟื้นฟูจิตใจของบุตรหลานของตนให้กลับคืนสู่สภาพปกติ

และบริษัทของเล่นทั้งหลายต่างก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

บรรดาผู้ผลิตของเล่นต่างหันมาผลิตของเล่นโดยใช้หลักการ MESH หรือ mental, emotional and social health ซึ่งเป็นของเล่นที่ช่วยส่งเสริมในเรื่องของสุขภาพทางจิต อารมณ์ และสังคมกันมากขึ้น โดยการสอนทักษะต่าง ๆ ให้กับเด็ก ๆ เช่น วิธีปรับตัวต่อความท้าทายใหม่ ๆ การแก้ปัญหาขัดแย้ง ช่วยให้สามารถแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกของตน และสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้

ของเล่นกลุ่ม MESH นี้ถูกใช้เป็นครั้งแรกในแวดวงพัฒนาการเด็กและโดย American Camp Association เมื่อ 10 ปีที่แล้ว และเป็นที่พูดถึงอีกครั้งหลังการระบาดใหญ่

ราชีล ฮามัธ หัวหน้าแผนก ThinkFun ของบริษัทของเล่น Ravensburger และเดบรา กิลโบอา ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับคืนสู่สภาพปกติ และแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ได้ก่อตั้งคณะทำงานโดยใช้หลักการ MESH เมื่อต้นปีนี้ เพื่อให้ผู้ผลิตออกแบบของเล่นโดยคำนึงถึงความยืดหยุ่นทางอารมณ์ และเพื่อให้ผู้ค้าปลีกทำการตลาดของเล่นเหล่านั้นตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ มีการวางแผนที่จะรับรองของเล่น MESH ภายในกลางปี 2024 เช่นเดียวกับที่สมาคมของเล่นได้ให้การรับรองของเล่นที่ใช้หลักการ STEAM ซึ่งเน้นในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ และคณิตศาสตร์

เอเดรียน แอพเพล โฆษกหญิงของสมาคมของเล่นกล่าวว่า ทางสมาคมจะติดตามดูการพัฒนาของเล่นภายใต้หลักการ MESH นี้ต่อไปเรื่อย ๆ

ของเล่นจำนวนมากที่อาจถือได้ว่าใช้หลักการ MESH นั้น มักจะเป็นของเล่นที่อยู่ในกล่องของเล่นเด็กอยู่แล้ว เช่น เกมความจำ หุ่นเชิด เลโก้บางประเภท เกมซื้อขายโปเกมอน และดันเจี้ยนและดรากอน

อย่างไรก็ตาม ยังมีบางคนที่กังวลว่าของเล่นที่ใช้หลักการ MESH นั้น อาจให้ความหวังแก่บรรดาพ่อแม่ในสิ่งที่ไม่อาจทำได้ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่บริษัททั้งหลายอาจใช้ประโยชน์จากความวิตกกังวลของพ่อแม่ที่มีต่อปัญหาสุขภาพจิตของลูก ๆ

คริส ไบร์น นักวิเคราะห์ของเล่นอิสระกล่าวว่า เขาเกรงว่า MESH จะถูกใช้เป็นกลไกทางการตลาด โดยการทำให้พ่อแม่กังวลว่าลูก ๆ ของตนจะไม่มีการพัฒนาทั้งด้านสังคมและอารมณ์ ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งอุตสาหกรรมของเล่นพึงกระทำ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลในวัยเด็กนั้น เพิ่มมากขึ้นมาหลายปีแล้ว แต่ความเครียดและความเศร้าโศกที่ไม่หยุดหย่อนจากการเกิดโรคระบาดใหญ่นั้นได้ทำให้เรื่องนี้แย่ลงไปกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้ว ซึ่งต้องถูกตัดขาดจากที่ปรึกษาและแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ของโรงเรียนระหว่างการเรียนรู้ทางไกล

นักการศึกษาจำนวนมากเริ่มให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมเพื่อตอบรับกับปัญหานี้ โดยการสอนทักษะทางสังคมให้กับเด็ก ๆ เช่น ช่วยให้พวกเขาจัดการกับอารมณ์ของตนเอง และสร้างสายสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้อื่น

อย่างไรก็ตาม แม้ของเล่นภายใต้หลักการ MESH จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นทางอารมณ์ แต่ยังมีคำถามว่าของเล่นเหล่านี้จะให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่เด็ก ๆ ได้จริงหรือไม่ หรือเด็ก ๆ จะชื่นชอบจนต้องขอของเล่นประเภทนี้เป็นของขวัญคริสต์มาสหรือไม่

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG