ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยพบวิธีรักษาโรคอัลไซเมอร์สแนวใหม่ในหนูทดลอง "ใช้ยาแก้ปวดประจำเดือน"


ขณะเดียวกัน สมาคมโรคอัลไซเมอร์บอกว่าการรับประทานอาหารที่ให้ประโยชน์ยังอาจชะลออาการของโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมได้ด้วย

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:49 0:00

มีรายงานการวิจัยใหม่ที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาระบุว่า การใช้ยาแก้ปวดประจำเดือนสามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ในหนูทดลองได้

การวิจัยที่ใช้ยาแก้ปวดประจำเดือนกับหนูทดลองทำกันที่มหาวิทยาลัย Manchester ในประเทศอังกฤษ โดยใช้หนูที่เพาะพันธุ์ขึ้นมาพร้อมกับอาการสมองเสื่อมโดยเฉพาะ

เมื่อหนูโตขึ้นและแสดงอาการสูญเสียความจำ นักวิจัยทดสอบด้วยการสอนให้หนูเดินในบริเวณที่จัดขึ้นมาแบบเขาวงกต และในการให้สัมภาษณ์ทาง Skype กับผู้สื่อข่าว นักวิจัย Mike Daniels บอกว่า “ได้พยายามสอนให้หนูรู้จักทางเดินในเขาวงกต แต่ไม่สำเร็จ”

นักวิจัยเลือกหนูมาสิบตัว และให้ยาซึ่งเรียกชื่อว่า "กรด mefenamic "เป็นเวลาหนึ่งเดือน การให้ยาใช้ปั๊มเล็กจิ๋วฝังไว้ใต้ผิวหนังหนู และยังมีหนูอีกสิบตัว ซึ่งมีปัญหาเรื่องความจำ เป็นกลุ่มควบคุมโดยให้ยาหลอกแทน

กรด mefenamic นี้จัดอยู่ในประเภทยาแก้อักเสบที่ไม่มีสาร steroid เรียกย่อๆว่า NSAID ซึ่งใช้แก้อาการปวดประจำเดือน

ผลที่ได้ทำให้นักวิจัยตื่นเต้นมากทีเดียว เพราะยานี้ดูจะทำให้หนูที่ความจำเสื่อม กลับมามีความจำเป็นปกติได้อย่างสมบูรณ์ แต่นักวิจัย Mike Daniels เตือนว่ายังมีงานจะต้องทำกันอีกมาก เพื่อยืนยันผลที่ได้ว่าเป็นจริง

รายงานการวิจัยชิ้นนี้มีให้อ่านได้ในวารสาร Nature communications และหัวหน้าทีมวิจัยชุดนี้คือ David Brough แห่งมหาวิทยาลัย Manchester

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยไม่พบว่า NSAID อื่นๆ รวมทั้ง ibuprofen ที่ใช้รับประทานแก้ปวดทั่วๆไป สามารถลดอาการอักเสบในสมองได้ นักวิจัยยังไม่แน่ใจด้วยว่า การใช้ NSAID นี้จะได้ผลกับผู้ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ทุกระดับ

แต่อย่างน้อยในกรณีที่วิธีรักษานี้ได้ผลจริง ก็ไม่ต้องรอกระบวนการผลิตและทดลองยา เพราะยานี้ผ่านการอนุมัติมาแล้วและเป็นที่ยอมรับว่าปลอดภัย

ในอีกด้านหนึ่ง แม้แพทย์และนักวิทยาศาสตร์จะยังไม่สามารถระบุได้ว่า สาเหตุของโรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์คืออะไร แต่อย่างน้อยก็มีสัญญาณบ่งบอกให้เห็นได้ และซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุด้วยก็ได้

สมาคมโรคอัลไซเมอร์ทดลองทำเอกซเรย์สมองด้วยกระบวนการที่เรียกว่า PET ย่อมาจาก positron emission tomography และช่วยให้นักวิทยาศาสตร์วัดดูว่า มีแผ่นหรือ plaque ของโปรทีนเกิดขึ้นรอบๆ เซลล์ประสาทที่ตายแล้วหรือที่กำลังจะตายหรือไม่ รวมทั้ง tangle หรือปมเส้นโปรทีนที่หุ้มเซลล์ประสาทเหมือนกับผ้าห่ม

ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ดูลักษณะการดำรงชีวิตของอาสาสมัครที่ร่วมโครงการ ซึ่งรวมทั้งดัชนีมวลกาย (BMI) อาหารที่รับประทาน และระดับของการออกกำลังกาย

ผลที่นักวิจัยพบก็คือ การมี BMI ในช่วงระหว่าง 18.5-24 มีการออกกำลังกายพอสมควร และการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ อย่างอาหารในยุโรปใต้ หรือ Mediterranean Diet ซึ่งมีน้ำมันมะกอก ซอสมะเขือเทศ และกระเทียม รวมทั้งผักและผลไม้เป็นหลัก จะช่วยลดแผ่นและปมโปรทีนตามแซลล์ประสาทได้

Dr. David Merrill หัวหน้าคณะนักวิจัยชุดนี้ กล่าวแสดงความประหลาดใจที่พบอิทธิพลของลักษณะการดำรงชีวิตในระดับโมเลกุล ก่อนจะเริ่มมีอาการโรคสมองเสื่อมอย่างจริงจัง

การศึกษาก่อนหน้านี้ได้แสดงให้เห็นว่า ลักษณะการดำรงชีวิตที่ดี อาจชะลอโรคอัลไซเมอร์ได้ แต่งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นว่าเป็นไปได้โดยการชะลอการเติบโตของแผ่นและปมโปรทีน

สมาคมโรคอัลไซเมอร์บอกว่า การรับประทานอาหารที่ให้ประโยชน์ยังอาจชะลออาการของโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมได้ด้วย

รายงานชิ้นนี้มาจากทีมวิจัยของ Semel Institute for Neuroscience and Human Bahavior ของมหาวิทยาลัย California ที่ Los Angeles และตีพิมพ์ไว้แล้วใน American Journal of Geriatric Psychiatry

XS
SM
MD
LG