ภาพถ่ายหรือวิดีโอของห้องโดยสารบนเครื่องบินที่คราคร่ำไปด้วยผู้โดยสารปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์มากมาย ซึ่งดูเหมือนเป็นการละเมิดคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเรื่องของการเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงวิกฤตโคโรนาไวรัส
บางคนตั้งคำถามว่า เครื่องบินจะยังเต็มลำได้อย่างไรในเมื่อการเดินทางทางอากาศลดลงมากกว่า 90% จากเมื่อปีก่อน?
ในบางกรณี การที่สายการบินต่าง ๆ มีผู้โดยสารแน่นเครื่องบิน เป็นเพราะมีการยกเลิกเที่ยวบิน ทำให้ผู้โดยสารต้องพากันไปขึ้นเครื่องบินเที่ยวอืนที่ยังหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่เที่ยวบิน
Robert Mann อดีตเจ้าหน้าที่สายการบินในนครนิวยอร์ค กล่าวว่า ในเส้นทางบินที่เคยมีหลายสายการบินที่ให้บริการ ตอนนี้อาจจะเหลือเพียงสองหรือสามเที่ยวบินเท่านั้น ทำให้ผู้โดยสารที่ยังมีตารางการเดินทางจำเป็นต้องมาอยู่ในเครื่องบินลำเดียวกัน
ทั้งนี้ จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบินอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบหลายปี โดยเฉลี่ยแล้วมีผู้โดยสารประมาณ 17 คนบนเที่ยวบินภายในประเทศแต่ละเที่ยวบิน แต่นั่นก็เป็นเพียงอัตราเฉลี่ยเท่านั้น เพราะแม้ว่าจำนวนผู้โดยสารได้ลดลง 93% จากปีที่ผ่านมา แต่การที่มีเที่ยวบินถูกยกเลิกจำนวนมาก ทำให้เครื่องบินบางลำยังมีผู้โดยสารแน่นขนัด
บรรดาสายการบินกล่าวว่า กำลังดำเนินการเพื่อบรรเทาความหวาดกลัวของผู้โดยสารเกี่ยวกับการติดเชื้อโคโรนาไวรัส บางสายการบินใช้มาตรการเว้นที่นั่งตรงกลาง หรือ เว้นที่นั่งตรงหน้าต่างและทางเดิน เช่น สายการบิน Delta ที่มีนโยบายเว้นที่นั่งริมหน้าต่างและที่นั่งริมทางเดินบางส่วนจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน ซึ่งจะทำให้พื้นที่ 50% ของชั้นหนึ่งและ 60% ของชั้นธรรมดาว่างเปล่า
หรืออาจให้ผู้โดยสารจ่ายเงินเพิ่มเพื่อไม่ให้มีผู้โดยสารคนอื่นมานั่งติดกับตน เช่น สายการบิน Frontier รับประกันว่าที่นั่งติดกับผู้โดยสารจะว่างเปล่า หากผู้โดยสารผู้นั้นเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มระหว่าง 39 ดอลลาร์ถึง 89 ดอลล่าร์
นอกจากนี้สายการบินต่าง ๆ ยังมีนโยบายให้ผู้โดยสารใส่หน้ากากหรือผ้าคลุมหน้าตลอดเวลาที่อยู่บนเครื่องบินอีกด้วย โดยอาจจะไม่ยอมให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่องหากไม่ใส่หน้ากาก ยกเว้นเด็กเล็กและผู้โดยสารที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง ผู้โดยสารจะได้รับอนุญาตให้ถอดหน้ากากออกในขณะที่รับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มเท่านั้น และลูกเรือของสายการบินทุกคนจะต้องใส่หน้ากากอนามัยด้วยเช่นเดียวกัน
ทุกสายการบินต่างชี้แจงว่า มีการทำความสะอาดห้องโดยสารเครื่องบินเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส บางสายการบิน เช่น Delta Airlines ได้ใช้เครื่องพ่นสารเคมีป้องกันไวรัสในการฆ่าเชื้อโรคด้วย
อย่างไรก็ตาม จนกว่าจะมีวิธีการรักษาที่ได้รับการอนุมัติแล้ว หรือมีวัคซีนใช้อย่างแพร่หลาย การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ในอุตสาหกรรมการบินก็มีแนวโน้มที่จะคงอยู่ต่อไปในช่วงหลายเดือนข้างหน้าหรืออาจนานเป็นปีก็เป็นได้