ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘ดีพเฟค’ เทคโนโลยีตัดต่อหน้า-เสียง โจทย์ใหญ่ศึกเลือกตั้งทั่วโลกปี 2024


พ่อค้าเร่ปั่นจักรยานผ่านป้ายแสดงภาพและรายชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ในกรุงจาการ์ตา เมื่อ 22 มกราคม 2024 (ที่มา:AP)
พ่อค้าเร่ปั่นจักรยานผ่านป้ายแสดงภาพและรายชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ในกรุงจาการ์ตา เมื่อ 22 มกราคม 2024 (ที่มา:AP)

ภาพและเสียงสังเคราะห์จากเทคโนโลยีดีพเฟคกำลังสร้างความสับสนให้กับฐานเสียงในประเทศที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง จนนักวิเคราะห์จับตามองว่าปี 2024 ที่ประชาชนในกว่า 60 ประเทศจะต้องเข้าคูหา จะมีการใช้ AI สร้างข่าวลือข่าวลวงเพื่อหวังผลทางการเมืองอย่างแพร่หลาย

ในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งในอินโดนีเซียที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงต่างต้องเจอกับวิดีโอและเสียงของนักการเมืองหลายคน ซึ่งแท้ที่จริงถูกสังเคราะห์ขึ้นมาโดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เรียกกันว่า ดีพเฟค (Deepfakes) ยกตัวอย่างเช่นวิดีโอของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตที่เผยแพร่ในแอปพลิเคชันติ๊กตอก (TikTok)

ซานตี อินดรา อัสตูตี จาก Mafindo ซึ่งเป็นเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงในอินโดนีเซีย ระบุว่า การใช้ AI สังเคราะห์เนื้อหาขึ้นมา เป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างให้กับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในปี 2024 เทียบกับครั้งก่อน ๆ

อัสตูตีกล่าวว่า “ในการเลือกตั้งปี 2024 การโจมตีคู่แข่งในปีนั้นมักใช้ข่าวลวงกันเป็นส่วนใหญ่ ในปี 2019 ข่าวลวงถูกใช้โจมตีผู้จัดการเลือกตั้ง ในขณะที่ปี 2024 เราเห็นการยกระดับที่พิลึกพิลั่นขึ้นไปอีกเพื่อโจมตีกระบวนการทางประชาธิปไตยทั้งองคาพยพ”

หนึ่งในตัวอย่างข้อมูลเท็จที่ Mafindo เผยแพร่ในเว็บไซต์ Turn Back Hoax คือเสียงบทสนทนาทางโทรศัพท์ที่เมกาวาตี ซูการ์โนปูตรี อดีต ปธน. อินโดนีเซีย กำลังด่าทอผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ปธน. (แคนดิเดต ปธน.) กันจาร์ ปราโนโว

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีวิดีโอของแคนดิเดต ปธน. รายอื่นอย่าง อานีส บัสวีดัน และปราโบโว ซูเบียนโต ที่กำลังพูดภาษาอารบิกอย่างคล่องแคล่วเพื่อหวังจะเอาใจฐานเสียงมุสลิม ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองคนไม่สามารถพูดภาษาอารบิกได้

อัสตูตีจาก Mafindo กล่าวว่า เป้าหมายของข้อมูลเท็จในปัจจุบัน ไม่เพียงจะมีขึ้นเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม แต่ยังใช้เพื่อเชิดชูแคนดิเดตที่ตัวเองชื่นชอบด้วย

ที่สหรัฐฯ ที่กำลังเริ่มมีการเลือกตั้งขั้นต้นสำหรับแคนดิเดต ปธน. ในรัฐต่าง ๆ ก็เจอกับการใช้งาน AI เพื่อหวังผลทางการเมืองบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ระบบโทรศัพท์อัตโนมัติที่ใช้เสียงสังเคราะห์ของโจ ไบเดน ปธน. สหรัฐฯ เพื่อติดต่อไปยังฐานเสียงพรรคเดโมแครต แล้วบอกว่า ไม่ต้องออกไปลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่รัฐนิวแฮมป์เชอร์

ลินด์เซย์ กอร์แมน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโนโลยีเกิดใหม่ จากองค์กร German Marshall Fund กล่าวว่า “สื่อที่ AI ผลิตขึ้นมา ตั้งแต่โทรศัพท์อัตโนมัติไปจนถึงเสียงดีพเฟคเพื่อโฆษณาหาเสียง กำลังถูกนำมาใช้ในแทบทุกการเลือกตั้งที่เราเห็นทั้งในปลายปี 2023 และเลยมายังปี 2024 ฉันคิดว่านี่เป็นบรรทัดฐานใหม่สำหรับภูมิทัศน์ด้านการเลือกตั้งและการเมือง”

ผู้ลงคะแนนเสียงในสหรัฐฯ ส่วนมากที่ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอ ไม่มั่นใจว่าจะสามารถแยกแยะระหว่างเนื้อหาที่ทำโดยดีพเฟคและเนื้อหาจริง ๆ ได้

“เราหวังว่าสื่อจะทำหน้าที่ของพวกเขา และบอกว่าอะไรจริงหรือปลอม” เช ฮูเปอร์ หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์กล่าว

เฟลิเป บิเญกาส ผู้ให้สัมภาษณ์อีกรายกล่าวว่า “มีใครก็ไม่รู้จำนวนมากที่กำลังทำสิ่งเหล่านี้นี้ และก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไปหยุดเขา”

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไบเดนได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร เรียกร้องให้หน่วยงานรัฐออกแนวทางปฏิบัติเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการถูกหลอกด้วย AI แต่กอร์แมนระบุว่า ยังไม่มีการบังคับใช้มาตรการอย่างมีประสิทธิภาพ

บริษัทดีพมีเดีย (DeepMedia) ที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ว่าจ้างให้มาตรวจจับดีพเฟค คาดการณ์ว่ามีเสียงและวิดีโอที่สังเคราะห์โดยเทคโนโลยีดังกล่าวกระจายอยู่ทั่วโลกประมาณครึ่งล้านชิ้นตลอดปี 2023 นักวิเคราะห์หลายรายต่างกังวลว่า ในปีที่มีการเลือกตั้งในหลายประเทศเช่นปีนี้ จำนวนของข้อมูลเท็จจะยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น

ในวันพฤหัสบดี รอยเตอร์รายงานว่า คณะกรรมการด้านการสื่อสารของสหรัฐฯ (Federal Communications Commission หรือ FCC) ประกาศให้การใช้เสียงสังเคราะห์จาก AI ในโทรศัพท์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย สืบเนื่องจากกรณีเสียงสังเคราะห์ของไบเดนในช่วงการเลือกตั้งขั้นต้น

เจสซิกา โรเซนวอร์เซล ประธาน FCC กล่าวว่า การประกาศนี้จะทำให้อัยการสูงสุดในรัฐต่าง ๆ มีเครื่องไม้เครื่องมือจัดการกับผู้อยู่เบื้องหลังเสียงโทรศัพท์สังเคราะห์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ไม่ประสงค์ดีใช้หลอกลวงประชาชนและสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG