สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กองทัพเมียนมาได้สั่งให้บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายโทรศัพท์มือถือต่าง ๆ ระงับการให้บริการของสื่อสังคมออนไลน์ ทวิตเตอร์ (Twitter) และอินสตาแกรม (Instagram) ในเมียนมาชั่วคราว ตามการเปิดเผยของบริษัทโทรคมนาคมนอร์เวย์ เทเลนอร์ (Telenor)
ชาวเมียนมาจำนวนมากเปลี่ยนไปใช้สื่อสังคมออนไลน์ ทวิตเตอร์ (Twitter) หลังจากที่กองทัพเมียนมาสั่งระงับบริการของเฟสบุ๊ก (Facebook) ในเมียนมาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
รายงานชี้ว่า ชาวเมียนมาใช้แฮชแท็ก #RespectOurVotes #HearTheVoiceofMyanmar และ #SaveMyanmar ในการแสดงจุดยืนต่อต้านการยึดอำนาจ และสนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยโดยเรียกร้องให้เคารพผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนซึ่งพรรคเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซู จี เป็นฝ่ายชนะอย่างท่วมท้น
บริษัทวิจัย BrandMentions ซึ่งติดตามตรวจสอบการใช้แฮชแท็กในสื่อสังคมออนไลน์ ระบุว่า มีผู้ใช้ทวิตเตอร์ติดแฮชแท็กดังกล่าวหลายแสนคน นอกจากนี้ยังมีการใช้แฮชแท็ก #MilkTeaAlliance หรือ พันธมิตรชานม เพื่อโน้มน้าวให้เกิดกระแสสนับสนุนประชาธิปไตยข้ามพรมแดน
โดย #MilkTeaAlliance ถูกนำไปใช้ก่อนหน้านี้ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในหลายประเทศของเอเชีย รวมทั้ง ประเทศไทย ไต้หวันและฮ่องกง ซึ่งล้วนใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางหลักในการแสดงความคิดเห็นและจุดยืนทางการเมือง
กองทัพเมียนมาเริ่มระงับบริการเฟสบุ๊กเมื่อวันพฤหัสบดี ต่อเนื่องไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์เป็นอย่างน้อย หลังจากเริ่มเกิดกระแสต่อต้านทหารในเมียนมารุนแรงขึ้นทางเฟสบุ๊กในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
เฟสบุ๊กถือเป็นโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในเมียนมา มีผู้ใช้มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากร 50 ล้านคนในประเทศ
รายงานของบริษัทวิจัย SensorTower เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ ทวิตเตอร์ได้กระโดดขึ้นมาเป็นแอปพลิเคชั่นที่มีผู้ดาวน์โหลดมากที่สุด 5 อันดับแรกในระบบปฏิบัติการโทรศัพท์มือถือทั้งของกูเกิล (Google) และ แอปเปิล (Apple)