นักศึกษาส่วนใหญ่ของคณะเเพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins) จะไม่ต้องจ่ายค่าเทอมหลังจากที่สถาบันได้รับเงินบริจาค 1 พันล้านดอลลาร์จากมูลนิธิบลูมเบิร์ก ฟิเเลนโธรพีส์ (Bloomberg Philanthropies)
เริ่มต้นตั้งเเต่ฤดูใบไม้ร่วงที่จะมาถึง เงินบริจาคนี้จะถูกนำไปช่วยปลดภาระค่าเทอมทั้งหมดของนักศึกษาเข้าใหม่ ที่มาจากครอบครัวที่ทีรายได้ไม่ถึง 3 เเสนดอลลาร์ต่อปี และหากผู้เรียนมาจากครอบครัวที่รายได้ไม่ถึง 175,000 ต่อปีก็จะได้รับความช่วยเหลือสำหรับค่ากินอยู่ และค่าธรรมเนียมการศึกษาอื่น ๆ ด้วย
มูลนิธิ Bloomberg Philanthropies กล่าวด้วยว่า 2 ใน 3 ของนักศึกษาปัจจุบันที่คณะเเพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอพกินส์มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเช่นกันและราว 45% ของนักศึกษาปัจจุบัน จะได้ความช่วยเหลือเรื่องค่ากินอยู่
คณะดังกล่าวประเมินว่า มูลค่าหนี้เฉลี่ยของนักศึกษาที่เรียนจบจะลดลงจาก 104,000 ดอลลาร์ในปัจจุบันมาเป็น 60,279 ดอลลาร์ในอีก 5 ปีจากนี้
เงินบริจาคนี้ยังครอบคลุมความช่วยเหลือสู่ คณะพยาบาล สาธารณสุขศาสตร์และหลักสูตรปริญญาโทและเอกอื่น ๆ
ไมเคิล บลูมเบิร์กผู้ก่อตั้งมูลนิธินี้และบริษัท Bloomberg LP กล่าวในเเถลงการณ์วันจันทร์ว่า "เมื่อเราลดสิ่งกีดกั้นทางการเงินสำหรับสายงานที่จำเป็นเหล่านี้ เราสามารถเปิดโอกาสให้นักศึกษาจำนวนมากขึ้นทำตามเป็นหมายในอาชีพที่เขาปรารถนา และทำให้พวกเขาทำงานเพื่อชุมชนและครอบครัวที่ต้องการคนเหล่านี้มากที่สุด"
บลูมเบิร์ก ซึ่งเคยเป็นนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก จบการศึกษาที่จอนส์ ฮอพกินส์สาขาวิศกรรมไฟฟ้าเมื่อปี 1964
มูลนิธิ Bloomberg Philanthropies เคยบริจาคเงิน 1,800 ล้านดอลลาร์ให้กับมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ เพื่อให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้สามารถรับนักศึกษาได้โดยไม่ต้องห่วงว่าพวกเขามาจากครอบครัวที่มีรายได้เท่าใด
เมื่อปีที่เเล้วไมเคิล บลูมเบิร์กใช้เงินเพื่อกิจกรรมการกุศลรวม 3,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้เขาเป็นผู้บริจาคเงินมากที่สุดคนหนึ่งของโลก ตามข้อมูลการวิจัยของ Chronicle of Philanthropy
ขณะนี้ คณะเเพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอพกินส์ เป็นสถาบันผลิตหมออีกแห่งหนึ่งที่ให้ทุนนักศึกษาเรียนโดยไม่ต้องจ่ายค่าเทอม
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ภริยาหม้ายของนักลงทุนวอลล์สตรีท รูธ กอตเตสแมน ผู้ที่เคยสอนที่สถาบัน Albert Einstein College of Medicine ประกาศการบริจาคเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์ให้แก่โรงเรียนสาขาแพทย์แห่งนี้ เป็นผลให้ผู้ที่เข้าเรียนไม่ต้องจ่ายค่าเทอม
เเละเมื่อปี 2018 คู่สามีภรรยา เคนเนธ และเอลีน แลนกอน ให้เงิน 100 ล้านดอลลาร์ต่อ Grossman School of Medicine แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก หรือ NYU เพื่อให้นักศึกษาไม่ต้องเสียค่าเทอม และจากนั้นในปี 2023 เขาและเธอก็บริจาคเงินอีก 200 ล้านดอลลาร์ให้กับ NYU Grossman Long Island School of Medicine เพื่อที่จะช่วยออกค่าเทอมทั้งหมดให้นักศึกษาแพทย์ทุกคนที่นั่น
ทั้งนี้ เคนเนธ แลนกอน คือ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอุปกรณ์ก่อสร้างโฮมดีโปต์ (Home Depot)
รศ. เเคนดิส เชนแห่งสถาบัน Milken Institute School of Public Health ที่มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเป้าหมายทางสังคมของสถานบันการศึกษาสาขาเเพทย์
เธอแสดงความเห็นต่อกระเเสการบริจาคเงินล่าสุดแก่มหาวิทยาลัย Johns Hopkins และ NYU ตลอดจน Albert Einstein
เธอกล่าวว่า น่าเสียดายที่โดยภาพรวมคณะเเพทยศาสตร์ ในปัจจุบันล้มเหลวในการผลิตแพทย์ที่ทำงานบริการปฐมภูมิแก่คนไข้ หรือเวชปฏิบัติทั่วไป รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต และเเพทย์ที่ทำงานให้กับคนในชนบทและชุมชนที่ขาดการดูเเล
เธอยกตัวอย่างว่า วิทยาลัยแพทย์ เช่น Meharry Medical College ในรัฐเทนเนสซี เหมาะสมที่จะได้รับเงินบริจาคเพราะมีผู้เข้ารับการศึกษาที่เป็นคนดำ และผลิตเเพทย์ที่ทำงานเวชปฏิบัติทั่วไปในชุมชนที่ขาดเเคลนบุคลากรด้านนี้
ทั้งนี้ เมื่อปี 2020 บลูมเบิร์กบริจาคเงินให้กับวิทยาลัยดังกล่าวมูลค่า 34 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงิน 100 ล้านดอลลาร์ที่มอบให้แก่โรงเรียนการเเพทย์ 4 แห่งที่มีนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นคนดำ
สำหรับสถาบันที่เคยมีคนบริจาคเงินให้รายละ 1 พันล้านดอลลาร์ มีจำนวนไม่กี่แห่งเท่านั้น
เมื่อปี 2022 มีสองแห่งที่ได้เงินบริจาคมากขนาดนี้ คือ มหาวิทยาลัยสเเตนฟอร์ด ที่รับเงิน 1,100 ล้านดอลลาร์ จากนักลงทุน จอห์น โดเออร์ และภริยา แอน เพื่อการศึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
และอีกแห่งหนึ่งคือเเม็คเฟียร์สัน คอลเลจ (McPherson College) สถาบันเล็ก ๆ แห่งหนึ่งซึ่งมีนักศึกษา 800 คน ในรัฐแคนซัส ที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากผู้บริจาคนิรนาม
- ที่มา: เอพี