บรรดาผู้นำชาติอาฟริกาพบหารือในวันอาทิตย์เพื่อเปิดตัว 'เขตการค้าเสรีอาฟริกา' ซึ่งหากสำเร็จลุล่วงจะเป็นการรวมประเทศในอาฟริกา 55 ประเทศ ที่มีประชากรรวมกัน 1,300 ล้านคน และมีมูลค่าเศรษฐกิจ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์เข้าด้วยกัน
การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาฟริกาเริ่มมาตั้งแต่ 4 ปีก่อน และบรรลุข้อตกลงในเดือนมีนาคม จนกระทั่งวันอาทิตย์นี้ที่มีการหารือในรายละเอียดว่า สำนักงานใหญ่ของ African Continental Free Trade Area (AfCFTA) นี้จะตั้งอยู่ที่ประเทศไหนและ จะเริ่มมีการค้าอย่างเสรีระหว่างประเทศสมาชิกเมื่อไร
การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาฟริกานี้ถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรีครั้งใหญ่ทีสุดในโลกในรอบหลายปี ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยปลดปล่อยศักยภาพทางเศรษฐกิจของอาฟริกาซึ่งถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ยากจนที่สุดในโลก และช่วยให้ประเทศในอาฟริกามีอำนาจต่อรองมากขึ้นบนเวทีโลก
ประเทศสมาชิกได้ตกลงกันที่จะยกเลิกภาษีสำหรับสิน้คานำเข้าเกือบทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าขายระหว่างประเทศสมาชิกได้ราว 15-25% ตามการประเมินของกองทุนระหว่างประเทศ หรือ IMF ซึ่งได้มีรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เขตการค้าเสรีอาฟริกาคือตัวแปรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจอาฟริกา เหมือนที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วกับยุโรปและอเมริกาเหนือ
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่า ปัจจัยสำคัญอันดับแรกที่ประเทศสมาชิกต้องเร่งดำเนินการ คือการเพิ่มปริมาณการค้าขายระหว่างประเทศในอาฟริกาด้วยกันเองจากระดับเพียง 17% เมื่อปี ค.ศ. 2017 เมื่อเทียบกับปริมาณการค้าขายกับประเทศในเอเชียและยุโรป ซึ่งอยู่ที่ระดับ 59% และ 69% ตามลำดับ
นอกจากนี้ โครงสร้างสาธารณูปโภคและการคมนาคมขนส่งต่างๆ ในอาฟริกา ระบบการบริหารที่ล้าสมัย ปัญหาคอร์รัปชั่น ตลอดจนความวุ่นวายทางการเมืองและสงครามในประเทศ ก็ล้วนเป็นความท้าทายสำคัญของการจัดตั้งเขตการค้าเสรีนี้เช่นกัน