ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ซีกโลกด้านเหนือพร้อมต้อนรับดาวหางจากแดนไกล-ถ้าพลาด! แค่รออีก 400 ปี


ภาพที่องค์การนาซ่าเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2023 แสดงให้เห็น 'ดาวหางนิชิมูระ' เคลื่อนตัวอยู่ในอวกาศ
ภาพที่องค์การนาซ่าเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2023 แสดงให้เห็น 'ดาวหางนิชิมูระ' เคลื่อนตัวอยู่ในอวกาศ

นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวหางดวงใหม่ที่กำลังจะโคจรผ่านโลกในเร็ว ๆ นี้เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 400 ปี และผู้ที่พลาดในครั้งนี้อาจต้องรออีกหลายร้อยปีเพื่อจะได้ชมอีกครั้ง ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี

ผู้ที่ชื่นชอบการดูดาวในซีกโลกด้านเหนือมีโอกาสที่จะได้เห็นดาวหางดังกล่าวที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 1 กิโลเมตรโคจรพุ่งผ่านโลกในวันที่ 12 กันยายนนี้ โดยระยะห่างจากพื้นโลกที่ใกล้ที่สุดนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 125 กิโลเมตรเท่านั้น

รายงานข่าวระบุว่า ผู้ที่ต้องการชมดาวหางดวงนี้ต้องลุกขึ้นมามองท้องฟ้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในวันที่ว่า และมองไปทางขอบฟ้าทางตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมองให้สูงจากขอบฟ้าราว 10 องศาและมองไปในทิศทางใกล้ ๆ กลุ่มดาวสิงห์ โดยดาวหางดวงนี้จะสว่างขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ แต่จะเคลื่อนตัวเรี่ยขอบฟ้าซึ่งจะทำให้ผู้ติดตามมองหายากพอควร

ดาวหางนิชิมูระ
ดาวหางนิชิมูระ

และแม้ว่า ในทางทฤษฎี ดาวหางดวงนี้มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ความเป็นจริงก็คือ ตัวดาวหางนั้นจะมีลักษณะค่อนข้างริบหรี่พอควร

พอล โชดาส ผู้จัดการศูนย์ Center for Near-Earth Object Studies ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซ่า กล่าวว่า ผู้ที่มีกล้องส่องทางไกลคุณภาพดี ๆ ยังต้องรู้ว่า ต้องมองไปในทิศทางใด ถึงจะเห็น

ดาวหางดวงนี้จะเคลื่อนตัวเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ในระยะที่ใกล้กว่าดาวพุธ ในวันที่ 17 กันยายนโดยประมาณ ก่อนที่จะโคจรออกจากระบบสุริยะต่อไป โดย โชดาส บอกว่า ดาวหางที่ว่าน่าจะรอดพ้นจะความร้อนแรงของดวงอาทิตย์ได้และไม่สลายตัวไปเสียก่อน

จิอานลูกา มาซิ นักดาราศาสตร์ชาวอิตาเลียน ผู้ก่อตั้ง Virtual Telescope Project ระบุในอีเมลที่ส่งถึงเอพีว่า สัปดาห์หน้าจะเป็นช่วงเวลาของ “โอกาสความเป็นไปได้อันสุดท้าย” ที่จะมองเห็นดาวหางจากท้องฟ้าของซีกโลกทางเหนือ ก่อนที่ดาวหางดวงนี้จะถูกแสงอาทิตย์กลบจนมองไม่เห็น

มาซิ กล่าวเสริมว่า หากดาวหางดวงนี้รอดจากพุ่งผ่านดวงอาทิตย์ไปได้ ก็วนกลับใสเคลื่อนตัวผ่านซีกโลกทางใต้ในช่วงปลายเดือนกันยายน ในระดับเรี่ยขอบฟ้าแต่เป็นช่วงโพล้เพลเย็นก่อนค่ำแทน

ทั้งนี้ ดาวหางดวงดังกล่าวถูกค้นพบโดยนักดูดาวมือสมัครเล่นชาวญี่ปุ่นเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จึงได้ชื่อว่า ดาวหางนิชิมูระ ไปโดยปริยาย

พอล โชดาส ผู้จัดการศูนย์ Center for Near-Earth Object Studies กล่าวว่า การที่มือสมัครเล่นจะเป็นผู้ค้นพบดาวหางในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นค่อนข้างยาก เพราะมีมืออาชีพพร้อมกล้องโทรทรรศน์กำลังแรงติดตามความเป็นไปในท้องฟ้าอยู่มากมาย แต่สำหรับนิชิมูระแล้ว นี่เป็นดาวหางดวงที่ 3 ที่เขาค้นพบ

โชดาสกล่าวทิ้งท้ายว่า ดาวหางสีเขียวเรืองแสงนี้เคยวนมาใกล้โลกครั้งล่าสุดเมื่อ 430 ปีก่อน หรือราว 1-2 ทศวรรษก่อน กาลิเลโอ จะคิดค้นกล้องโทรทรรศน์ขึ้นมานั่นเอง

  • ที่มา: เอพี

XS
SM
MD
LG