ศูนย์สัตว์นำ้ในรัฐนอร์ธแคโรไลนากล่าวว่า ปลากระเบนเพศเมียที่ตั้งท้องโดยไม่อาศัยตัวผู้ เป็นปลาที่เป็นโรคหายากที่เกี่ยวกับ 'ความผิดปกติของการเจริญพันธุ์'
แถลงการณ์ของศูนย์สัตว์นำ้ 'อะเเควเรียม แอนด์ ชาร์ค แล็บ' แห่งเมืองเฮนเดอร์สันวิลล์ ไม่ได้ระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่า ปลากระเบนตัวดังกล่าวที่ชื่อ 'แชร์ลอตต์' เป็นโรคอะไร และไม่ได้บอกถึงสถานะการตั้งครรภ์ในปัจจุบันของปลาตัวนี้
ศูนย์สัตว์นำ้แห่งนี้ไม่ตอบกลับอีเมลจากนักข่าวของสื่อเอพีที่สอบถามเรื่องนี้โดยทันที
"เเชร์ลอตต์ เป็นโรคหายากเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ ที่มีผลเชิงลบต่อระบบเจริญพันธุ์ของเธอ" ศูนย์สัตว์นำ้แห่งนี้กล่าว "การค้นพบครั้งนี้เป็นเรื่องน่าเศร้าและคาดไม่ถึงทางการเเพทย์ เราให้ความสำคัญอันดับหนึ่งต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของเเชร์ลอตต์"
ก่อนหน้านี้ ศูนย์แห่งนี้กล่าวว่าแชร์ลอตต์ตั้งท้องในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ร่วมกันกับปลากระเบนเพศผู้มาเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ปี
นอกจากนี้ยังกล่าวในเวลานั้นด้วยว่าแชร์ลอตต์ตั้งครรภ์ลูกปลา 4 ตัว และว่าจะให้กำเนิดลูกปลาในอีก 2 สัปดาห์
นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่าการตั้งท้องของสัตว์ในลักษณะนี้ เป็นการผลิตลูกโดยไม่มีการสืบพันธุ์จากสัตว์เพศผู้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นถูกเรียกในทางวิชาการว่า parthenogenesis
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยครั้งในรูปแบบดังกล่าว สามารถพบได้ใน แมลงบางชนิด นก และสัตว์ครึ่งบกครึ่งนำ้
เคยพบกรณีเหล่านี้ใน นกเเร้งคอนดอร์แคลิฟอร์เนีย มังกรโคโมโด และงู นำ้ท้องเหลือง แต่ไม่เคยพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
- ที่มา: เอพี
กระดานความเห็น