ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เทคโนโลยี ‘มองทะลุ’ สิ่งกีดขวาง เพิ่มศักยภาพให้รถไร้คนขับ


ภาพนิ่งของแอนิมิชันแสดงให้เห็นเทคโนโลยีที่ทำให้กล้อง 'มองทะลุ'
ภาพนิ่งของแอนิมิชันแสดงให้เห็นเทคโนโลยีที่ทำให้กล้อง 'มองทะลุ'

วิสัยทัศน์ที่รอบด้านและไร้ขีดจำกัดอาจไม่ใช่เรื่องที่พบได้ตามนิยายหรือการ์ตูนวิทยาศาสตร์หรือซูเปอร์ฮีโร่เท่านั้น แต่ใกล้ที่จะเป็นความจริงขึ้นในอนาคตอันไม่ไกลนี้แล้ว เพราะความก้าวหน้าในงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งในสหรัฐฯ

การมองทะลุกำแพงและสิ่งกีดขวาง เคยเป็น “พลังพิเศษ” ของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ในจินตนาการ แต่ทุกวันนี้ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้เริ่มศึกษาการใช้พลังงานแสงเลเซอร์ร่วมกับหลักการสะท้อนแสงจากพื้นผิวของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่โดยรอบ อย่างเช่น ผนัง เพื่อใช้จับภาพวัตถุที่อยู่นอกวิสัยทัศน์ของกล้อง ซึ่งหากพัฒนาสำเร็จก็จะช่วยยกระดับความสามารถของวิสัยทัศน์การมองอย่างมาก และความก้าวหน้านี้ทั้งยังเป็นสิ่งที่จะถูกนำไปต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายด้วย

กอร์ดอน เวทซ์สไตน์ อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด อธิบายว่า เมื่อปล่อยเลเซอร์จากจุดกำเนิดแสงที่มีลักษณะเป็นคลื่นพลังงานสั้น ๆ ไปยังพื้นของกำแพงที่มองเห็นได้ แสงที่ตกกระทบจะกระจัดกระจายไปยังวัตถุที่ถูกซ่อนไว้ด้านหลัง อนุภาคแสงโฟตอน (Photon) บางส่วนจะไปกระทบกับวัตถุ และบางส่วนก็จะเดินทางกลับมายังตำแหน่งของกล้อง

ภาพนิ่งของแอนิเมชันแสดงให้เห็นรถขับเคลื่อนด้วยตนเองใช้ระบบถ่ายภาพไลดาร์ (LiDAR)
ภาพนิ่งของแอนิเมชันแสดงให้เห็นรถขับเคลื่อนด้วยตนเองใช้ระบบถ่ายภาพไลดาร์ (LiDAR)

เวทซ์สไตน์ชี้ว่า ระบบจะใช้ระยะเวลาที่อนุภาคแสงโฟตอนเดินทางกลับมาที่กล้องเพื่อคำนวนผลลัพธ์และระบุรูปร่างของวัตถุที่ถูกซ่อนไว้

เทคโนโลยีนี้อาจถูกนำมาใช้พัฒนาระบบการถ่ายภาพไลดาร์ (Light Detection and Ranging – LiDAR) ของรถยนต์ไร้คนขับ เพื่อให้ระบบมีข้อมูลของสิ่งที่อยู่รอบตัวที่ดีมากขึ้น

กอร์ดอน เวทซ์สไตน์ อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
กอร์ดอน เวทซ์สไตน์ อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

เวทซ์สไตน์ เชื่อว่า “(ระบบรถยนต์ไร้คนขับ) จะเห็นได้กว้างไกลขึ้น ตัดสินใจได้ดีและแม่นยำขึ้น เราไม่ต้องการให้รถมีวิสัยการมองเห็นเทียบเท่าเพียงแค่มนุษย์ เราอยากเห็นมัน (มอบ) ความปลอดภัยที่มากขึ้นไปอีก”

ความก้าวหน้านี้ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์สำหรับการกู้ภัยได้เช่นกัน

อาจารย์กอร์ดอน เวทซ์สไตน์ อธิบายกลไกของการทำให้กล้องสามารถ "มองทะลุ" ได้
อาจารย์กอร์ดอน เวทซ์สไตน์ อธิบายกลไกของการทำให้กล้องสามารถ "มองทะลุ" ได้

โดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า “ลองนึกถึงเหตุแผ่นดินไหว มีผู้ประสบภัยฝังอยู่ข้างใต้ หากมีช่องว่างและเรายิงแสงเลเซอร์เข้าไปได้ ก็จะสามารถสแกนสภาพแวดล้อมแบบสามมิติ ในบริเวณที่มองไม่เห็นอย่างรวดเร็ว และตรวจดูว่าในนั้นมีผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือหรือไม่”

สิ่งที่ท้าทายมากที่สุดซึ่งทีมวิจัยกำลังเผชิญอยู่ คือ การคัดกรองอนุภาคแสงโฟตอนทั้งหมดที่กล้องได้รับกลับมา และประมวลสร้างเป็นภาพของวัตถุขึ้นมาใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องใช้อัลกอริธึมที่มีความซับซ้อน และการจะนำไปใช้งานจริงก็ยังต้องอาศัยเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ามากกว่านี้

เวทซ์สไตน์ อาจารย์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า เผยว่า ยังมีอุปสรรคอีกจำนวนมากที่รออยู่ข้างหน้า แต่เขาเชื่อว่า อย่างน้อย เราได้แสดงหลักการความเป็นไปได้ ของการ “มองทะลุ” สิ่งกีดขวาง ไปยังวัตถุที่ลับสายตา

และในไม่ช้า เราอาจได้เห็นเทคโนโลยีนี้โลดแล่นอยู่ตามท้องถนนเพื่อเพิ่มศักยภาพของรถยนต์ไร้คนขับและมอบความปลอดภัยที่มากขึ้นให้กับผู้ใช้งานทุกคนก็เป็นได้

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG