ผลของการศึกษาค้นคว้าครั้งใหม่พบว่า ในรอบสองสามปีที่ผ่านมา ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยในโลก ยังคงมีจำนวนเท่าเก่าเมื่อเปรียบเทียบกันดูแล้ว แต่ความเป็นประชาธิปไตยนั้น ดูเหมือนจะย่อหย่อนลงไป
ผู้สื่อข่าววอยซ ออฟ อเมริกา ณ กรุงวอชิงตัน ซูซาน เพรสโต มีรายงานเกี่ยวกับดัชนีการเปลี่ยนแปลง สำหรับปีพุทธศักราช 2553 ที่มูลนิธิ เบอร์เทลสแมนจัดทำขึ้น
ดัชนีการเปลี่ยนแปลง ที่มูลนิธิเบอร์เทลสแมนจัดทำขึ้น ซึ่งเรียกย่อๆ ว่า BTI นี้เป็นดัชนีที่วัดความก้าวหน้า ตามประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจำนวน 128 ประเทศขณะที่ประเทศเหล่านี้ เคลื่อนคืบหน้าไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และการมีเศรษฐกิจแบบที่ยึดแนวการตลาดเป็นหลัก
คุณซาบีน ดอนเนอร์ ผู้จัดการโครงการด้าน BTI ระดับอาวุโสคนหนึ่งกล่าวว่า ในหมู่ 128 ประเทศนี้ 76 ประเทศมีคุณสมบัติเหมาะสม กับการเป็นประเทศประชาธิปไตย โดยวัดจากความเข้มแข็ง ของโครงสร้างของอำนาจที่มีอยู่ เสรีภาพ
ทางการเมือง ระบบการตรวจสอบ และการถ่วงดุลย์อำนาจระหว่างกัน และวัฒนธรรมของพลเมืองเป็นอาทิ
แต่คุณซาบีน ดอนเนอร์เตือนว่า ในหมู่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย 76 ประเทศที่ทำการศึกษาค้นคว้ามานี้ แต่ละประเทศ ที่ระบอบประชาธิปไตยทำงานได้เป็นอย่างดีนั้น ก็จะมีสองประเทศที่ระบอบประชาธิปไตย ยังขาดตกบกพร่อง เธอกล่าวด้วยว่า ในหมู่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเหล่านั้น 23 ประเทศมีข้อขาดตกบกพร่อง ที่ไม่สลักสำคัญอะไรนัก เธอกล่าวไว้ตอนนี้ว่า ตามประเทศอีก 53 ประเทศ ที่ระบอบประชาธิปไตย ยังมีข้อขาดตกบกพร่องนี้ ไม่มีการประกันด้านสิทธิทางการเมือง และสิทธิของพลเมือง ตลอดจนการแบ่งแยกอำนาจอย่างพอเพียง ถึงแม้ว่าจะมีการเลือกตั้งที่เสรี และยุติธรรม เมื่อเปรียบเทียบกันดูแล้วก็ตาม เธอกล่าวด้วยว่า 16 ประเทศในจำนวนนั้นรวมทั้งรัสเซีย เฮติ และเคนยา มีปัญหามากทีเดียว ในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติตามตัวบทกฎหมาย
ผลของการศึกษาวิจัยฉบับนั้นระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญสังเกตเห็นว่า ในรัสเซียและเวเนซวยลานั้น มีแนวโน้มไปในทางที่จะเป็นเอกาธิปไตย การปฎิบัติตามตัวบทกฎหมาย ย่อหย่อนลงไปเรื่อยๆ ในนิคารากัวและแอฟริกาใต้ ตลอดจนการใช้กำลัง ขับรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้ง เข้ามาบริหารประเทศ ตามระบอบประชาธิปไตยออกจากอำนาจ อย่างเช่นในรายของประเทศไทยและมอริตาเนีย
ผู้เชี่ยวชาญของมูลนิธิเบอร์เทลสแมนกล่าวว่า เมื่อดูทีแรก ไม่มีอะไรที่แสดงให้เห็นว่า กำลังมีการเปลี่ยนไปสู่เอกาธิปไตย
แต่คุณซาบีน ดอนเนอร์กล่าวไว้ตอนนี้ว่า "อัตราส่วนของประเทศ ที่ระบอบประชาธิปไตย ขาดตกบกพร่องอย่างร้ายแรง เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ถึงแม้ว่าจำนวนประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ยังคงเท่าเดิม แต่คุณภาพของระบบการเมือง ในหลายประเทศย่อหย่อนลงไปอย่างเป็นกอบเป็นกำ"
ตามดัชนี BTI 5ประเทศทางละตินอเมริกา ที่ระบอบประชาธิปไตยบกพร่องมากทีเดียว ได้แก่เฮติ กัวเตมาลา นิคารากัว โคลอมเบียและเอควาดอร์ ส่วน 5 ประเทศทางแอฟริกาได้แก่เบอร์กีนา ฟาร์โซ เคนยา อังโกลา เลโซโตและบูรุนดี ส่วนประเทศทางเอเชียสี่ประเทศ ที่ระบอบประชาธิปไตยบกพร่องมากทีเดียว ได้แก่เนปาล ศรีลังกาประเทศไทยและฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ก็ยังมีรัสเซียอีกประเทศหนึ่ง ทางตะวันออกกลางนั้น อิรักเป็นประเทศเดียว ที่ระบอบประชาธิปไตยบกพร่องอย่างมาก ส่วนทางเอเชียใต้ ก็มีปากีสถานและอัฟกานิสถาน ที่ระบอบประชาธิปไตยบกพร่องอย่างมาก
คุณซาบีน ดอนเนอร์กล่าวว่า เมื่อระบอบประชาธิปไตยย่อหย่อนลงไป ก็จะมองเห็นผลกระทบที่มีต่อสถาบัน ที่เป็นแกนสำคัญของการเข้าร่วมทางการเมือง อย่างเช่นเสรีภาพด้านสื่อมวลชน
คุณซาบีน ดอนเนอร์กล่าวไว้ตอนนี้ว่า "มีประเทศในทุกภาคของโลก ที่เสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ลดน้อยลงไปอย่างเป็นกอบเป็นกำ" เธอกล่าวด้วยว่า เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีของการจัดทำดัชนี BTI
คุณซาบีน ดอนเนอร์กล่าวต่อไปว่า ประเทศทางแอฟริกามากมายหลายแห่ง ตกอยู่ในสภาพดังกล่าวแต่เธอเน้นด้วยว่า โลกกำลังประสพแนวโน้มที่ว่านี้
บรรดานักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงของการประเมินสถานการณ์ เริ่มตั้งแต่ต้นปีพุทธศักราช 2550 ไปจนถึงต้นปีพุทธศักราช 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่การขยายตัวของเศรษฐกิจ ที่ดำเนินมาเป็นเวลายาวนานหยุดลง บรรดานักวิเคราะห์กล่าวด้วยว่า รัฐบาลของประเทศต่างๆ มีความโน้มเอียงที่จะทอดทิ้งการปฎิรูป เมื่อเศรษฐกิจของประเทศมีท่าทีว่าเข้มแข็ง