ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปัญหาขยะอิเล็คทรอนิคส์ ในประเทศกำลังพัฒนา


สังคมในประเทศต่างๆ กำลังผลิตเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นเรื่อยๆ และด้วยเหตุนี้จึงพลอยทำให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นเป็นเงาตามตัว โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาตินำรายงานฉบับหนึ่งออกเผยแพร่ ซึ่งเตือนถึงอันตรายอันเกิดจากการที่ปริมาณของขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มมากขึ้นนี้ ตามประเทศที่กำลังพัฒนามักมีคนนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาโยนทิ้งไว้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของชาวบ้าน

ในแต่ละปี ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่คนนำมาทิ้งในโลก ซึ่งรวมถึงโทรทัศน์ ตู้เย็น โทรศัพท์มือถือและเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นมีจำนวนสี่สิบล้านตัน และตัวเลขดังกล่าวจะสูงขึ้นต่อไป

ขอยกกรณีของจีนให้ดูเป็นตัวอย่าง คาดว่าจีนจะทิ้งโทรศัพท์มือถือมากกว่าขณะนี้เจ็ดเท่าตัว ส่วนอินเดียจะทิ้งโทรศัพท์มือถือมากกว่าขณะนี้สิบแปดเท่าตัว

สินค้าไฮเทคนี้นอกจากค่อนข้างจะใหญ่เทอะทะแล้ว ยังมีวัศดุที่เป็นพิษอย่างเช่นตะกั่วและสารปรอทด้วย ถ้าไม่ดูแลให้เหมาะสมแล้ว จะทำให้เกิดมลพิษและเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

กรรมการบริหารของข่ายงานเบเซิ่ล แอ็กชั่น ซึ่งเป็นกลุ่มเอกชนซึ่งพุ่งความสนใจไปที่เรื่องการหยุดยั้งการค้าสินค้าที่มีพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้า ที่จะเป็นขยะที่มีพิษนั้นกล่าวว่าโลกจำต้องรีบดำเนินการเพื่อหยุดยั้งขยะที่เป็นพิษ ทั้งนี้เพราะอุตสาหกรรมผลิตสินค้าที่ล้าสมัยได้เร็วกว่าแต่ก่อน ดังนั้นเรากำลังผลิตขยะกองพะเนินเทินทึก โดยที่เราจะไม่ห้ามผู้คนไม่ให้ซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เขากล่าวด้วยว่าสิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือ กันวัสดุที่เป็นพิษออกไปเสีย

เลขาธิการของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ อาคิม สไตเนอร์กล่าวในการประชุมที่โครงการดังกล่าวจัดขึ้นที่เมืองนูสา ดัว ประเทศอินโดนีเซียว่าควรมีการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ส่วนมากกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เขากล่าวว่านอกจากเหตุผลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีเรื่องสิ่งกระตุ้นใจในแง่เศรษฐกิจด้วย อย่างเช่นแร่เงิน และทองที่ขุดขึ้นมาทั่วโลกนั้น ร้อยละสามนำมาใช้กับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและโทรศัพท์เคลื่อนที่

เขากล่าวไว้ตอนนี้ว่า " ถ้าเราเริ่มลงทุนและนำวัศดุเหล่านี้กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เราก็จะผันปัญหาให้กลายมาเป็นโอกาส โดยเราจะเริ่มสร้างงาน ลดปริมาณโลหะที่จะทิ้งนั้นลง เรื่องเหล่านี้มีประโยชน์ถ้าเราเริ่มจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ทำตามแบบที่เราเห็นในประเทศอุตสาหกรรม เรื่อยไปจนถึงประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุดโดยไม่มีกฎหมายบังคับ

อนุสัญญาเบเซิ่ลเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่กำหนดแนวทางที่โลกจะจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่อนุสัญญาฉบับนั้นมีจุดอ่อนหลายอย่าง

สหรัฐซึ่งเป็นประเทศที่มีขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดในโลก ยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนั้น นอกจากนี้ยังมีการลักลอบค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพราะได้กำไรงาม บริษัทบางแห่งกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยวิธีส่งไปกำจัดยังประเทศที่ยากจน ซึ่งแทนที่จะมีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ กลับปล่อยให้กองพะเนินเทินทึก อยู่ตามที่ทิ้งขยะและวัศดุที่เป็นพิษสามารถซึมเข้าไปในน้ำหรือลงไปในดินได้

ปัญหาในทุกวันนี้ ยิ่งสลับซับซ้อนมากขึ้นเนื่องจากการค้า ประเทศพัฒนาแล้วเคยเป็นผู้ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์และนำไปทิ้งตามประเทศที่ยากจน แต่ในทุกวันนี้ ประเทศที่ยากจน ซึ่งไม่มีขีดความสามารถในด้านนำขยะที่ทิ้งแล้วกลับมาใชประโยชน์ใหม่ ส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปยังประเทศอย่างเช่นจีน และประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเข้มแข็งขึ้น ซึ่งกำลังกลายเป็นผู้ก่อให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นจีนก่อให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์มากเป็นที่สองรองจากสหรัฐ

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ยังกระทบกระเทือนสุขภาพของพลโลกนับล้านๆ คน ผู้ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเก็บขยะในประเทศของพวกเขา ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า การแก้ปัญหานี้ต้องใช้เงินทุนงวดใหม่และแรงคนโดยจัดตั้งสถานที่อำนวยความสะดวก สำหรับการนำขยะที่ทิ้งแล้วกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ที่ปลอดภัย และเหนี่ยวรั้งควบคุมสินค้าขาออกที่ผิดกฎหมาย


XS
SM
MD
LG