อาหาร วิธีการปรุงอาหาร และลีลาชีวิตที่แตกต่างกันออกไป สามารถเป็นเครื่องมือที่ช่วยอธิบายได้ว่า เพราะเหตุใดประชาชนบางประเทศ ผู้มีวัฒนธรรมแบบหนึ่งจึงมีร่างกายที่ผอมกว่า มีสุขภาพที่ดีกว่าและมีอายุยืนกว่าประชาชนในที่อื่นๆ
นักโภชนาการและผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพกล่าวว่า การเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศ ที่ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงเหลือเกินนั้น เป็นเรื่องที่ทรงความสำคัญถ้าเราต้องการลดน้ำหนัก ต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ และมีชีวิตที่แข็งแรงมากขึ้น
หลังจากท่องโลกมาหลายปี ผู้เชี่ยวชาญด้านความสมบูรณ์ของร่างกาย จากการออกกำลัง และการรับประทานอาหารครบถ้วน ฮาร์ลีย์ พาสเตอร์แน่กเขียนหนังสือเล่มใหม่ซึ่งมีชื่อเรื่องว่า The 5-Factor World Diet ซึ่งเขาจัดอันดับประเทศ ที่ประชาชนมีสุขภาพดีเยี่ยมรวม10 ประเทศไว้
คุณฮาลีย์ พาสเตอร์แน่กกล่าวไว้ตอนนี้ว่า "ตามทัศนะของผม ชาวญี่ปุ่น เป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงที่สุดในโลก พวกเขาอายุยืนที่สุดในโลก และผู้ที่เป็นโรคอ้วน โรคหัวใจและโรคเบาหวานมีน้อยรายมาก "เขากล่าวต่อไปว่า คนญี่ปุ่นมองอาหารทุกมื้อ เหมือนกับเป็นศิลปะแบบหนึ่งคือ อาหารจัดไว้สวยและมีรสอร่อย อีกทั้งคนญี่ปุ่นรับประทานปลา ถั่วเหลืองเป็นเม็ดๆ สาหร่ายทะเลและดื่มชาเขียวกันมากที่สุดในโลก
เขากล่าวว่า พอรับประทานอาหารจนรู้สึกตัวว่าชักจะอิ่ม คนญี่ปุ่นจะหยุดรับประทาน และคอยดูท่าทีอีกสิบนาทีก่อนจะตัดสินใจว่า จะรับประทานอาหารต่อไปหรือไม่? และเกือบจะตลอดเวลาก็ว่าได้ พวกเขาจะรู้สึกอิ่มหมีพีมัน จนไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารต่อไปอีก
สิงค์โปร์ เกาหลี และจีนเป็นอีกสามประเทศทางเอเชีย ที่ติดอันดับ 10 ประเทศยอดเยี่ยมที่สุดของโลก ส่วนที่เหลือก็มีอิสราเอล สวีเดน ฝรั่งเศส กรีซและอิตาลี ซึ่งอยู่ทางย่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
เขากล่าวไว้ตอนนี้ว่า อาหารอิตาเลียนตั้งแต่เม็ดถั่วเลนทิล เม็ดถั่วกาบานโซน้ำส้มสายชูเรื่อยไป จนถึงแป้งพาสต้าอีกนิดหน่อยนั้น รับประทานแล้วทำให้สุขภาพดีอย่างสุดสุดเลย เขากล่าวด้วยว่า อาหารมื้อใหญ่สุดของชาวอิตาลีในแต่ละวัน คือมื้อกลางวัน ไม่ใช่มื้อเย็น และว่าพอรับประทานอาหารเสร็จ ชาวอิตาลีทั้งครอบครัว ก็จะพากันออกไปเดินเล่น
ส่วนนายแพทย์ ริชาร์ด คอลลินส์ แนะนำให้คนไข้ของเขา รับประทานอาหารแบบที่คนย่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นิยมรับประทานกันเพราะว่าใส่ผัก ผลไม้ เมล็ดธัญญพืชที่ไม่มีการขัดสีเยอะแยะ เนื้อปราศไขมันและเนื้อเป็ดไก่ และปลาที่มีโอเมก้า 3 มากๆ และถ้าดูให้ดีแล้วจะเห็นว่า ลีลาชีวิตและวิธีการรับประทานของคนเหล่านั้น ผสมผสานกับการออกกำลังกาย ที่ได้สมดุย์กับปริมาณอาหารที่รับประทานเข้าไป นายแพทย์ ริชาร์ด คอลลินส์ บอกว่าการเอาการแพทย์ผสมผสาน กับความรู้ในด้านการปรุงอาหารของเขา ทำให้เขาสามารถแนะนำให้คนไข้ รู้ถึงวิธีการปรุงอาหารอย่างผิดๆ อย่างเช่นการใช้เครื่องปรุงที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การปิ้งและการทอด ตลอดจนการทำลายไวตามินที่สำคัญต่างๆ ได้และชักชวนให้พวกเขาหันมาสนใจ อาหารแบบที่คนย่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนิยมรับประทานกัน
ส่วนนายแพทย์ เดวิด เซอร์แวน-ชไรเบอร์ ผู้เขียนหนังสือที่ให้ชื่อว่า " Anti-Cancer, A New Way of Life "กล่าวว่าการที่เราเปลี่ยนอาหาร ที่รับประทานเพียงเล็กน้อยเสียด้วยซ้ำไป และการเปลี่ยนวิธีการปรุงอาหารนั้น จะสามารถมีประโยชน์ต่อร่างกายของเรา ได้อย่างมากทีเดียว คุณหมอผู้นี้ยกตัวอย่างให้ฟังว่า ผลการศึกษาเมื่อเร็วนี้พบว่าหญิงจีน ผู้รับประทานเห็ดสัปดาห์ละสามวัน ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งที่เต้านมได้ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ และถ้ารับประทานเห็ดควบคู่กันไป กับการดื่มชาเขียวสัปดาห์ละสามถ้วย ก็จะทำให้ลดความเสี่ยงต่อการที่จะเป็นโรคมะเร็งที่เต้านม ได้ถึงแปดสิบเก้าเปอร์เซ็นต์เป็นต้น
ส่วนแพทย์หญิง เคลลี่ เทรเว่อร์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "The Program: The Brain-Smart Approach to the Healthiest You "เห็นด้วยกับเรื่องนั้น คุณหมอกล่าวว่า ความรู้เกี่ยวกับเรื่องอาหาร ที่ทำให้คนมีสุขภาพดีที่สุดนั้น มีให้ศึกษามากกว่า แต่ก่อนและสามารถช่วยให้คนเรา ต่อสู้กับศัตรูที่ร้ายกาจที่สุด คือ โรคอ้วนนั้นได้