ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผลทดสอบ DNA ของมัมมี่อียิปต์โบราณ บ่งบอกสาเหตุการสิ้นพระชนม์ที่แท้จริง ของฟาโรห์อังค์อามุน


ผลการทดสอบรหัสพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอของมัมมี่อียิปต์โบราณครั้งล่าสุด เปิดเผยให้เห็นถึงหลักฐาน เกี่ยวกับพระบิดา และพระมารดาของฟาโรห์ทุตอังค์อามุน หรือที่คนไทยเรารู้จักกันในชื่อตุตันคาเมน และผลการทดสอบดังกล่าว ยังเปิดเผยถึงเรื่องที่น่าตกตะลึงด้วยว่า อะไรกันแน่ที่เป็นสาเหตุของการสิ้นพระชนม์ที่แท้จริง ของฟาโรห์ทุตอังค์อามุน

ผลการตรวจสอบดีเอ็นเอของมัมมี่ฟาโรห์ตุตันคาเมน หรือที่อ่านออกเสียง ตามเว็บไซต์วิกิพีเดียว่าทุตอังค์อามุน เปิดเผยให้ทราบว่า แท้จริงแล้วคิงทัตสิ้นพระชนม์ด้วยโรคมาลาเรีย

ก่อนหน้านี้มีการคาดเดากันต่างๆ นาๆ ถึงสาเหตุการสิ้นพระชนม์ของฟาโรห์ผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ โดยนักโบราณคดีส่วนใหญ่ เชื่อว่าถูกลอบปลงพระชนม์ เนื่องจากพบรอยแตกร้าว ที่ด้านหลังหัวกระโหลก แต่หัวหน้าฝ่ายโบราณคดีของอียิปต์ นาย Zahi Hawass กล่าวว่า ผลการตรวจสอบล่าสุด โดยวิธีถ่ายเอ็กซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์พบว่า รอยร้าวนั้นจริงๆ แล้วเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำมัมมี่

หัวหน้าฝ่ายโบราณคดีของอียิปต์ ยังได้กล่าวถึงเรื่องลึกลับในราชวงศ์ของฟาโรห์ทุตอังค์อามุน ซึ่งเริ่มต้นด้วยคำถามเกี่ยวกับมัมมี่อีก 7 ศพที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานอียิปต์ซึ่งไม่มีใครรู้ที่มา

อย่างไรก็ตาม นักวิจัย Albert Zink แห่งสถาบันมัมมี่และมนุษย์น้ำแข็งในอิตาลีระบุว่า ผลการตรวจสอบดีเอ็นเอพบว่า หนึ่งในมัมมี่เหล่านั้น ที่พบในสุสานเดียวกับฟาโรห์ทุตอังค์อามุน คือพระราชบิดาของพระองค์เองซึ่งมีพระนามว่า อัคเอนอาเตน และมัมมี่อีกศพหนึ่งคือ พระอัยยิกาหรือย่าของคิงทัต พระนามว่าทีเย ส่วนมัมมี่ศพที่ 3 เป็นสตรีอายุน้อยกว่า ซึ่งเชื่อกันว่า น่าจะเป็นพระราชมารดาของฟาโรห์ทุตอังค์อามุน

นักวิจัย Albert Zink ยังบอกด้วยว่า หลักฐานสำคัญอีกอย่างที่พบคือ ฟาโรห์ทุตอังค์อามุนประชวรหนัก ด้วยโรคมาลาเรีย และนั่นอาจเป็นสาเหตุการสิ้นพระชนม์ ของฟาโรห์ผู้นี้ตั้งแต่วัยยังไม่ครบ 19 ปี

นอกจากนี้ คุณ Zahi Hawass หัวหน้าฝ่ายโบราณคดีของอียิปต์ชี้ว่า ในขณะยังมีชีวิตอยู่ ฟาโรห์ทุตอังค์อามุนเป็นคนไม่แข็งแรง เจ็บออดๆ แอดๆ ดังจะเห็นได้จากรอยโหว่ ที่เพดานปากและมีเท้าผิดรูป ทำให้ต้องใช้ไม้เท้าตลอดเวลา นักโบราณคดีผู้นี้ระบุว่า สาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้สุขภาพของฟาโรห์ทุตอังค์อามุนไม่ค่อยสมบูรณ์นัก น่าจะเป็นเพราะความผิดปกติ ของพันธุกรรมที่เป็นผลมาจาก การที่พระราชบิดาอัคเอนอาเตน ทรงอภิเษกสมรสกับน้องสาวแท้ๆ ของตนเอง ซึ่งก็คือมัมมี่หญิงศพที่ 3 ที่เชื่อว่าเป็นพระราชมารดาของคิงทัต แต่ยังไม่มีใครทราบชื่อนั่นเอง

สำหรับรายงานผลการค้นพบด้านดีเอ็นเอ ของมัมมี่อียิปต์โบราณซึ่งใช้เวลาวิจัยราว 2 ปีชิ้นนี้ ตีพิมพ์อยู่ในวารสารของสมาคมการแพทย์อเมริกัน



XS
SM
MD
LG