คณะผู้เชี่ยวชาญอิสระคณะหนึ่งของโลก นำผลของการศึกษาวิจัยครั้งใหม่ออกเผยแพร่ ซึ่งเรียกร้องให้บังคับใช้สนธิสัญญา ห้ามการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์อย่างเข้มงวด เพื่อป้องปรามมิให้ประเทศใดๆ ได้อาวุธทำลายล้างมวลชนร้ายแรงนี้ มาไว้ในความครอบครอง
ส่งรายงานมาจากนครเจนีวาว่า รัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลญี่ปุ่น เป็นผู้อุปถัมภ์การศึกษาวิจัยที่ว่านี้
รายงานผลของการศึกษาวิจัย ของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่า ด้วยการห้ามการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ และการลดอาวุธ เสนอการวิเคราะห์เกี่ยวกับอันตราย ที่จะเกิดจากอาวุธนิวเคลียร์ไว้อย่างตรงไปตรงมา และเน้นแนวทางด้านการปฏิบัติเป็นหลัก รายงานเสนอแนวทาง สำหรับดำเนินการที่ควรนำมาปฏิบัติ เพื่อพยายามกำจัดภัยคุกคามที่ว่านี้
รายงานระบุว่า ตราบใดที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์ ตราบนั้นประเทศอื่นๆ ก็ต้องการมีอาวุธนิวเคลียร์บ้าง และว่าตราบใดที่ยังมีอาวุธนิวเคลียร์ ตราบนั้นก็จะมีวิสัย ที่อาจมีใครนำระเบิดนิวเคลียร์ไปใช้ ไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือว่าตั้งใจก็ตาม
อดีตรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย กาเร็ธ แอฟเว่นส์ ผู้ร่วมเป็นประธานของคณะกรรมการดังกล่าว อยู่ในขณะนี้กล่าวว่า การบังคับการณ์ให้เป็นไปตามสนธิสัญญา ห้ามการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ จะต้องเข้มแข็งยิ่งกว่านี้ เขากล่าวว่า มีความจำเป็นที่จะต้องทำแบบนั้น เพื่อป้องกันมิให้ประเทศใดๆ ได้วัสดุที่นำไปใช้สร้างระเบิดนิวเคลียร์ โดยอ้างเรื่องการใช้พลังนิวเคลียร์ เพื่อวัตถุประสงค์ในทางสันติเป็นฉากบังหน้า เขากล่าวด้วยว่าเกาหลีเหนือก็ใช้วิธีการแบบนั้น ซึ่งทำให้เกาหลีเหนือ บรรลุขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ ในขณะที่อ้างสนธิสัญญาห้ามการแพร่กระจาย ของอาวุธนิวเคลียร์เป็นฉากบังหน้า
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศออสเตรเลีย กาเร็ธ แอฟเว่นส์ กล่าวต่อไปว่า จะต้องกดดันอิหร่านให้หนักยิ่งขึ้น เพื่อให้ปฏิบัติตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และว่ารัสเซียกับจีนต้องร่วมมือในการคว่ำบาตร์อิหร่าน แต่เขากล่าวว่า ในบั้นปลายจะต้องหาทางออกที่ได้มาจากการเจรจา ต่อรองกัน เพื่อทำให้อิหร่านไม่แตกแถว อีกทั้งยังคงไม่มีวิสัย ที่จะหมุนนาฬิกาย้อนกลับหลัง ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเพิ่มพูนคุณภาพของยูเรเนียม
เขากล่าวไว้ตอนนี้ว่า "เห็นได้ชัดว่า เราไม่สามารถป้องปรามอิหร่าน ไม่ให้มีขีดความสามารถ ในการเพิ่มพูนคุณภาพของยูเรเนียม และแม้กระทั่งในเรื่อง การพัฒนาการออกแบบอาวุธนิวเคลียร์ และอะไรต่อมิอะไรทำนองนั้นต่อไปอีก ดังนั้นภายในช่วงเวลาอันสั้นเมื่อเปรียบเทียบกันดูแล้ว อิหร่านจะสามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้จริงๆ ถ้าอิหร่านต้องการ ข้าพเจ้าคิดว่า เราจะไม่สามารถป้องปรามอิหร่านมิให้อยูในฐานะเช่นนั้นได้ แต่ข้าพเจ้าคิดว่า เราสามารถป้องปราม และจูงใจอิหร่าน มิให้ทำถึงขั้นที่จะนำยูเรเนียมนั้นไปใช้สร้างอาวุธนิวเคลียร์"
ตามการกะประมาณ อาวุธนิวเคลียร์ในโลก มีอยู่ราวสองหมื่นสามพันรายการ สหรัฐกับรัสเซีย มีอาวุธนิวเคลียร์รวมกันสองหมื่นสองพันรายการ รายงานผลของการศึกษาวิจัยฉบับนั้นระบุว่า การลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์เหล่านั้น ให้เหลือสองพันหัวรบ น่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ และว่าทุกประเทศควรลงนามในหลักการ ที่จะไม่เป็นฝ่ายใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน อีกทั้งประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ ควรตกลงที่จะไม่นำอาวุธนิวเคลียร์ส่วนใหญ่ไปใช้