ปัญหาเรื่องที่ว่า ทำไมผู้หญิงจึงยังล้าหลังผู้ชายในด้านคณิตศาสตร์ ยังคงเป็นเรื่องที่เห็นขัดแย้งกันอยู่ เมื่อเร็วๆ นี้ มีผลการวิจัย ที่อาจให้คำตอบบางส่วน ผลงานวิจัยของนักจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยชิคาโก บ่งชี้ว่า เด็กผู้หญิงอาจเรียนรู้ หรือได้รับความกลัววิชาคณิตศาสตร์มาจากครู ตั้งแต่สมัยเข้าเรียนหนังสือตอนแรกๆ
แม้ว่าในระยะหลายปีที่ผ่านมา ผู้หญิงจะเก่งทางด้านคณิตศาสตร์มากขึ้น แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ในการงานอาชีพด้านนี้เท่ากับผู้ชาย
ผลการวิจัยเด็กนักเรียนชั้นประถมหนึ่ง ประถมสองในสหรัฐพบว่า ครูผู้หญิงที่สอนชั้นประถมต้น มักมีความหวาดวิตกเกี่ยวกับทักษะความสามารถของตน ในการที่จะถ่ายทอดความรู้ทางคณิตศาสตร์ แก่เด็กผู้หญิงเล็กๆ ที่ตนสอนอยู่
เด็กนักเรียนเล็กๆ นั้น มักจะมองดูผู้ใหญ่เพศเดียวกันเป็นแบบอย่าง และการที่ครูผู้หญิงมีความวิตกกังวล กลัวว่าจะสอนคณิตศาสตร์ไม่ได้ดี ก็อาจเป็นการส่งเสริมให้เป็นไปตามรูปแบบที่ว่า เด็กผู้ชายเก่งวิชาคำนวณ หรือคณิตศาสตร์มากกว่าเด็กผู้หญิง
รองศาสตราจารย์ Sian L. Beilock สาขาจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยชิคาโกกับเพื่อนร่วมงาน ทำงานวิจัยเด็กผู้ชาย 52 คนและเด็กผู้หญิง 65 คน และครู 17 คนในหลายโรงเรียน
จากข้อมูลที่มีอยู่นั้น ครูชั้นประถมต้นในสหรัฐ ราว 95 % เป็นผู้หญิง และในการวิจัยนี้ ก็มีครูผู้หญิงราว 95 % เช่นกัน
จากการสอบถามในงานวิจัยนี้ พบว่า ในตอนต้นปีการศึกษา ความสามารถของนักเรียนด้านคณิตศาสตร์ ไม่เกี่ยวกับความวิตกกังวลของครู แต่พอปลายปีการศึกษา ยิ่งครูมีความหวาดวิตกมากเท่าใด นักเรียนหญิงส่วนใหญ่ก็ดูจะเห็นด้วย กับเรื่องเด็กผู้ชายเก่งด้านคณิตศาสตร์ และเด็กผู้หญิงเก่งด้านการอ่านมากเท่านั้น ขณะที่เด็กผู้ชายไม่ได้คิดอย่างนั้น
นักวิจัยพบด้วยว่า เด็กผู้หญิงที่ให้คำตอบเช่นนั้น ได้คะแนนสอบคณิตศาสตร์ น้อยกว่าเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงที่ไม่เชื่อตามรูปแบบดังกล่าว
อาจารย์ Sian L. Beilock ผู้ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของความหวาดวิตก และตความเครียดที่มีต่อการทำงาน ตั้งข้อสังเกตว่า การวิจัยอื่นๆ ก็บ่งชี้ว่า การศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่มีวิชาหลักในด้านการศึกษาระดับประถมศึกษา มีระดับความวิตกกังวลด้านคณิตศาสตร์สูงที่สุด ในบรรดาวิชาหลักต่างๆ
เมื่อดูจากผลการวิจัยดังกล่าวแล้ว บรรดานักวิจัยเสนอแนะว่า ควรจะต้องมีการพิจารณาทบทวน ข้อกำหนดต่างๆ ด้านคณิตศาสตร์สำหรับการศึกษา เพื่อให้ได้ปริญญาด้านการสอนนักเรียนชั้นประถมต้นกันเสียใหม่ รายงานการวิจัยนี้กล่าวชี้ว่า ครูรุ่นต่อไป โดยเฉพาะครูชั้นประถมต้น จะสอนนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อครูเหล่านั้น ให้ความสนใจมากขึ้น แก่การพัฒนาปรับปรุงทั้งทักษะความสามารถ ในด้านคณิตศาสตร์และทัศนคติในเรื่องนี้ให้ดีขึ้น
Janet S. Hyde อาจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย Wisconsin วิทยาเขต Madison ผู้เคยทำงานวิจัยทำนองนี้มาก่อนเห็นว่า เป็นเรื่องสอดคล้องกับความรู้สึกของเธอ และกล่าวว่า เด็กผู้หญิงที่เติบโตขึ้นมาด้วยความเชื่อที่ว่า เด็กผู้หญิงไม่สันทัดคณิตศาสตร์เท่าเด็กผู้ชาย มักจะหลีกเลี่ยงการเข้าเรียนวิชาคำนวณยากๆ ซึ่งพอเติบโตจบการศึกษาออกมาหางานทำ ผู้หญิงเหล่านี้ก็ไม่สามารถเข้าทำงานในหลายอาชีพ โดยเฉพาะงานดีๆ ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลจี
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ Janet S. Hyde ซึ่งไม่ได้ร่วมงานวิจัยนี้ ก็กล่าวชี้เช่นกันกันว่า ไม่ใช่ว่า เด็กผู้หญิงในชั้นเรียนที่มีครูหวั่นวิตกเรื่องคณิตศาสตร์ จะเป็นไปตามรูปแบบที่ว่านี้ทุกคนไป และเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเพียงสาเหตุส่วนหนึ่งเท่านั้น