ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดยา กำลังเรียกร้องให้บรรดาผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังทั้งหลาย ติดฉลากบอกปริมาณคาเฟอีน และส่วนผสมอื่นๆ ให้ชัดเจนไว้ที่ข้างขวด
บรรดาเครื่องดื่มชูกำลังทั้งหลาย มีวัตถุประสงค์ในการช่วยให้ผู้คนมีกำลังวังชา และสมองแจ่มใส ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีมากมายเช่น Red Bull, Monster, Ripped Force, Speed Stack และ 5 Hour Energy เครื่องดื่มประเภทนี้จะดึงดูดบรรดาวัยรุ่น ซึ่งมักจะเติมพลังงานด้วยคาเฟอีนเป็นหลัก
คุณ Chad Reissig นักวิจัยด้านการแพทย์ แห่งมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮ็อบสกินส์ ที่บัลติมอร์ รัฐแมรี่แลนด์ กำลังศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการติดยาอยู่ เขากล่าวว่าคณะผู้ร่วมงานของเขา สนใจในเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับเครื่องดื่มชูกำลัง เพราะเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
เขากล่าวต่อไปว่า นักวิจัยพบประเด็นสำคัญ 3 ประเด็นเกี่ยวกับเครื่องดื่มประเภทนี้ ข้อแรก มีเครื่องดื่มชูกำลังหลายร้อยยี่ห้อ ในประเทศใหญ่ๆ ข้อที่สอง เครื่องดื่มประเภทนี้ ไม่ได้ติดฉลากที่บอกข้อมูลต่างๆ อย่างเพียงพอ และข้อที่สาม ปริมาณคาเฟอีนของแต่ละยี่ห้อมีมากน้อยแตกต่างกันไป บางยี่ห้อมีปริมาณคาเฟอีนน้อยนิดเพียง 50 มิลลิกรัม ส่วนบางยี่ห้อ ก็มีมากถึง 500 มิลลิกรัมเลยทีเดียว ส่วนกาแฟต้มยี่ห้อสตาร์บัคส์ 1 แก้ว มีปริมาณคาเฟอีน 330 มิลลิกรัม ใน 473 มิลลิลิตร
เครื่องดื่มชูกำลังบางชนิด ประกอบด้วยการผสมผสานของส่วนประกอบที่เรียกว่าเป็น สารที่ให้พลังงาน เช่น เทารีน กัวรานา และ อิโนสซิทอล ซึ่งเป็นสารจากธรรมชาติ แต่คุณ Chad Reissig นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮ็อบสกิน กล่าวว่านักวิทยาศาสตร์ไม่มีความรู้มากนัก เกี่ยวกับเครื่องดื่มให้พลังงาน ว่ามีปฏิกิริยาต่อคาเฟอีนอย่างไรบ้าง และที่แย่ไปกว่านั้น เครื่องดื่มเหล่านี้ ไม่ได้บอกปริมาณของส่วนผสมต่างๆ เอาไว้
มีคนบางคนที่ดื่มเครื่องดื่มให้พลังงาน ผสมกับเครื่องดื่มที่มีอัลกอฮอล์ พวกเขาคิดว่าจะสามารถดื่มเครื่องดื่ม ที่มีอัลกอฮอล์ได้มากขึ้น โดยที่ไม่มีผลกระทบใดๆ อย่างไรก็ตาม การศึกษาชี้ว่า คนเหล่านั้นยังคงอยู่ใต้อิทธิพลของอัลกอฮอล์ หรือคงยังมึนเมาได้ แม้ว่าจะไม่รู้สึกตัวก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังบางราย ติดฉลากคำเตือนไว้ข้างขวด อย่างเช่น เครื่องดื่มให้พลังงานแบบช็อตยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องดื่มให้พลังงานแบบที่ขวดเล็ก แต่มีปริมาณเข้มข้น เตือนว่าหญิงมีครรภ์ มารดาให้ที่นมบุตร หรือเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มนี้ นอกจากนี้ยังแนะนำให้จำกัดปริมาณเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และควรดื่มแค่ครึ่งขวดเท่านั้น ถ้าต้องการให้ได้ปริมาณพลังงานที่เหมาะสม
คณะนักวิจัยที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮ็อบสกินส์ เพิ่งจะตีพิมพ์รายงานเรื่องนี้ ในวารสาร Drug and Alcohol Dependence พวกเขาแนะนำว่า ผู้ผลิตควรจะติดฉลากบอกปริมาณคาเฟอีน และส่วนผสมอื่นๆ อย่างชัดเจนไว้ที่ข้างขวด และตอนนี้บรรดานักวิจัย กำลังพยายามค้นหาวัยรุ่นที่มีประสบการณ์เลวร้าย หลังจากที่ดื่มเครื่องดื่มประเภทนี้