เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม ทางการไทยเริ่มดำเนินการส่งตัวชาวม้ง 4,000 คนจากค่ายผู้ลี้ภัยห้วยน้ำขาว ข้ามพรมแดนกลับไปยังประเทศลาว กลุ่มสิทธิมนุษยชน เกรงว่า ชาวม้งเหล่านี้จะถูกปรักปรำดำเนินคดีเมื่อกลับไปลาว
ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐ เรียกร้องให้ระงับการดำเนินการดังกล่าว และกล่าวว่า ประเทศไทยละเมิดหลักการทางมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ด้วยการบังคับให้ชาวม้งเหล่านี้กลับไปลาว
โฆษกรัฐบาลไทย ดร. ปนิธาน วัฒนายากรปฏิเสธคำกล่าวหาที่ว่านั้น และว่าทางไทยมิได้บังคับ หากแต่เป็นความสมัครใจของชาวม้ง ที่จะเดินทางกลับไปยังลาวเอง โฆษกของรัฐบาลไทยกล่าวด้วยว่า ตามกฎหมายไทย ชาวม้งเป็นผู้อพยพเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย และทางการไทย ได้ปฏิบัติต่อคนเหล่านี้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน และก็จะดำเนินการให้เป็นที่แน่ใจว่า คนเหล่านี้ถูกส่งกลับไปอย่างปลอดภัย และอยู่ในสภาพที่ดี โฆษกของรัฐบาลไทยกล่าวด้วยว่า ทางการลาวได้ให้สัญญาว่า จะอภัยโทษให้กับชาวม้ง ที่เดินทางกลับประเทศลาวด้วย
เมื่อวันพุธก่อนหน้านั้น รองผู้แทนประจำภูมิภาคของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฝ่ายผู้ลี้ภัย องค์การสหประชาชาติ กล่าวไว้ว่า ชาวม้งหลายคน ในค่ายผู้ลี้ภัยอาจมีคุณสมบัติครบถ้วน ที่จะขอสถานภาพผู้ลี้ภัยได้ หากแต่ทางการไทยไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ หรือกลุ่มองค์กรอื่นๆ ได้เข้าไปประเมินสถานภาพของคนเหล่านั้น
เจ้าหน้าที่สหประชาชาติผู้นี้กล่าวว่า กระบวนการระบุตัวและดำเนินการในเรื่องนี้ ขาดความโปร่งใสอยู่บ้าง และสำนักงานฯ ก็ได้พยายามขออนุญาตที่จะเข้าถึง เพื่อตรวจสอบสถานภาพ และความสมัครใจของคนเหล่านี้ตลอดมา
ส่วนที่กรุงวอชิงตันสำนักงานโฆษกของกระทรวงการต่างประเทศ มีถ้อยแถลงออกมาแสดงความเสียใจที่ประเทศไทย ละเมิดหลักการทางมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่า ประเทศไทยได้ยึดถือหลักการที่ว่านี้มาอย่างแข็งขัน และว่า สหรัฐขอเร่งเร้าให้ทางการไทย ระงับการดำเนินการนี้ และขอให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยลาว ปฏิบัติต่อชาวม้งที่ถูกบังคับให้กลับไปอย่างมีมนุษยธรรม ให้ผู้ตรวจสอบระหว่างประเทศ ได้เข้าถึงคนเหล่านี้ และขอให้โอกาสผู้ที่มีสิทธิ โยกย้ายถิ่นฐานได้ และว่าสหรัฐจะยังคงมีบทบาทร่วมในเรื่องสำคัญนี้ต่อไปอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ผู้แทนของกลุ่ม Human Rights Watch ในประเทศไทย นายสุนัย ผาสุข เรียกการส่งชาวม้งกลับลาวครั้งนี้ว่า เป็นการละเมิดมาตรฐานระหว่างประเทศ
ผู้แทนของ Human Rights Watch ในประเทศไทย กล่าวว่า ควรจะต้องมีกระบวนการที่น่าเชื่อถือได้ และที่รับประกันว่า คนเหล่านี้ไม่ต้องหวั่นกลัวการถูกปรักปรำดำเนินคดี ซึ่งยังไม่มี และว่าทางรัฐบาล และทางการทหารไทยไม่ได้ดำเนินการอย่างโปร่งใส และมีกระบวนการที่น่าเชื่อถือในการกลั่นกรองชาวม้ง เพื่อแยกผู้ที่สามารถกล่าวอ้างสถานภาพผู้ลี้ภัย ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ออกจากผู้ที่เป็นผู้อพยพอย่างผิดกฎหมาย
โฆษกของทางการไทยกล่าวว่า ชาวม้งอีกราวๆ 150 คนในค่ายผู้ลี้ภัยอีกค่ายหนึ่ง อาจมีคุณสมบัติครบสำหรับการขอลี้ภัย และว่าหลังจากถูกส่งกลับลาวแล้ว คนเหล่านั้น คงจะถูกส่งไปยังประเทศที่สาม ซึ่งอาจจะเป็นสหรัฐต่อไปภายในเวลาหนึ่งเดือน
ในช่วงสงครามเวียตนาม ชาวม้งต่อสู้สงครามเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารอเมริกัน และเมื่อสงครามสิ้นสุดลงในปีค.ศ. 1975 ชาวม้งจำนวนมากหนีออกจากลาว ข้ามพรมแดนเข้าไปในประเทศไทย และนับแต่นั้นมา มีชาวม้งเป็นจำนวนมาก ที่ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในสหรัฐ ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ