ในช่วงคืนก่อนวันคริสต์มาสหรือคริสต์มาสอีฟนี้ บุรุษผู้หนึ่งที่ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ตั้งแต่ช่วงค่ำไปจนฟ้าสางนั้น จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคุณลุงซานต้าครอส ผู้นำของขวัญไปให้แก่เด็กๆ นั่นเอง
แต่ของขวัญที่บรรดาเด็กๆ ต้องการใช่ว่าจะมีแต่ของเล่นเท่านั้น เพราะในจดหมายที่เด็กๆ เขียนส่งถึงคุณลุงซานต้านั้น ยังระบุถึงของขวัญอื่นๆ ที่ผู้ใหญ่อาจจะคาดคิดไม่ถึง
ใครเคยเขียนจดหมายขอของขวัญกับซานต้าครอสกันบ้างหรือเปล่า? ถ้าเคย จดหมายของคุณ อาจเป็นหนึ่งในจดหมายเกือบ 1,200 ฉบับ ที่คุณ Carole Slotterback ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Scranton รวบรวมมาจากจดหมายถึงซานต้าครอส ในช่วงระหว่างปี 1998 ถึง 2003 ที่ถูกเก็บไว้ที่ที่ทำการไปรษณีย์กลางของเมือง Scranton ในรัฐเพนซิลเวเนีย เพื่อนำมาวิเคราะห์และเขียนเป็นหนังสือเรื่อง “จิตวิทยาซานต้า”
ศาสตราจารย์ Slotterback บอกว่าจดหมายส่วนใหญ่ เขียนด้วยลายมือหวัดๆ แบบเด็กๆ บนกระดาษหลากสี บางคนวาดรูปหรือติดสติกเกอร์รูปต่างๆ และเด็กบางคน นอกจากจะเขียนที่อยู่ของตนไว้เสร็จสรรพแล้ว ยังไม่ลืมให้หมายเลขโทรศัพท์ของที่บ้าน และของผู้ปกครองไว้ด้วย เผื่อไว้ในกรณีที่ซานต้าครอสหลงทาง ซึ่งจดหมายเหล่านั้น ทำให้เธอเกิดความรู้สึกหลายอย่างปะปน ทั้งตลกขบขันกับความช่วงคิดช่างเลือกของขวัญของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็น กล้องจุลทรรศน์ สัตว์เลี้ยงตัวใหม่ การ์ดการ์ตูนโปเกม่อน และเกือบทุกคนจะระบุไว้เหมือนกันหมดว่า ปีนี้ไม่เอาเสื้อผ้านะ
แต่พอมาถึงจดหมายฉบับหนึ่ง เธอก็รู้สึกตื้นตันขึ้นมาทันที เพราะลายมือที่เขียนอย่างบรรจงลงบนกระดาษสีชมพูสดสอดในซองติดแสตมป์ 5 เซนต์นั้น ขอให้ซานต้านำของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกมาให้ นั่นคือคุณแม่ โดยเจ้าของจดหมายให้เหตุผลว่า ทุกวันนี้คุณพ่อต้องทำงานเหนื่อยอยู่คนเดียว ทั้งงานข้างนอกและงานในบ้าน จึงอยากให้มีคุณแม่มาช่วยแบ่งเบาภาระบ้าง โดยศาสตราจารย์ Slotterback ระบุว่า มีจดหมายในลักษณะที่เขียนเพื่อขอให้ซานต้าครอสช่วยเหลือ ในเรื่องครอบครัวเช่นนี้อยู่ประมาณ 3-6% ของจดหมายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นขอให้คุณยายหายป่วย หรือขอให้พ่อแม่หยุดทะเลาะกัน
แต่ละปี จะมีจดหมายถึงซานต้าส่งมายังที่ทำการไปรษณีย์ต่างๆ หลายแสนฉบับ ยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี จดหมายก็จะยิ่งส่งมาเยอะ แต่น่าเสียดายที่ไม่มีฉบับไหนเลย ที่ไปถึงมือซานต้า อย่างไรก็ตาม บางฉบับก็ได้รับการตอบสนอง จากบุคคลหรือองค์กรต่างๆ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์เอง ศาสตราจารย์ Slotterback บอกว่า เด็กที่เขียนจดหมายเหล่านั้น แทนที่จะทำรายการของขวัญที่อยากได้ ดูจะเป็นเด็กที่สุภาพ และช่างเจรจามากกว่า เช่น จดหมายฉบับหนึ่งที่เขียนขอสุนัขตัวใหม่กับซานต้า ใช้คำว่าได้โปรดหรือกรุณาเถอะในจดหมายถึง 16 ครั้ง อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่าจดหมายหลายฉบับ ยังขาดความสุภาพ และมารยาทสังคม เช่นฉบับหนึ่งที่เขียนว่า “ถึงซานต้า ผมจะฆ่าคุณซะ และจะขโมยของเล่นในโกดังของคุณให้หมด” ซึ่งเธอเชื่อว่าถูกส่งมาจากสถานพินิจและคุ้มครองเยาวชน
ศาสตราจารย์ Slotterback แนะนำให้ผู้ปกครองลองให้ลูกๆ เขียนจดหมายหรือทำรายการของขวัญถึงซานต้าครอสดูบ้าง เพื่อจะได้ดูว่าเด็กๆ ชอบอะไร อยากได้อะไรและไม่อยากได้อะไร และที่สำคัญควรกำชับให้เด็กๆ ใช้คำว่า “ได้โปรดหรือกรุณา” ในกรณีที่ขอของขวัญ หรือต้องการให้ใครทำอะไรให้ และคำว่า “ขอบคุณ” สำหรับตอบแทนน้ำใจของใครสักคน หรือผู้ใหญ่ควรจะทำให้เป็นแบบอย่างสำหรับเด็กๆ ปฏิบัติตาม