ผู้แทนจากประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกาเดินออกจากที่ประชุม เรื่องบรรยากาศโลกเปลี่ยนแปลงที่กรุงโคเปนเฮเกนเมื่อวันจันทร์ เป็นการประท้วง เพราะเห็นว่า มีความพยายามที่จะลดความสำคัญของการเจรจาครั้งนี้ โดยจะไม่มีการกำหนด การลดระดับการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่ทำให้บรรยากาศโลกเปลี่ยนไป ในขณะเดียวกัน ก็จะไม่ให้ความสนใจกับการต่ออายุอนุสัญญาเกียวโต ซึ่งจะหมดอายุลงในปีค.ศ. 2012
ตามข้อตกลงในอนุสัญญาเกียวโต ประเทศที่ร่ำรวย ให้พันธกรณีกับการลดแก๊สเรือนกระจกในระดับที่กำหนดไว้แน่นอน แต่ไม่กำหนดให้ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศยากจนต้องทำเช่นนั้น
ผู้แทนจากแอฟริกาคนหนึ่งกล่าวว่า ในกระบวนการเจรจาเท่าที่ได้กระทำกันไป อนุสัญญาเกียวโตมีความสำคัญต่อแอฟริกา ซึ่งถูกผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากกว่าใครเพื่อน และเป็นทวีปที่ยากจนมากที่สุดด้วย
ประเทศยากจนต้องการให้ประเทศร่ำรวย ให้พันธกรณีว่าจะลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก และให้ความช่วยเหลือประเทศยากจน ในการปรับเปลี่ยนเพื่อจัดการกับบรรยากาศโลกที่เปลี่ยนไป แต่การจะกำหนดว่าใครจะลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกได้มากน้อยเพียงใด ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่ายๆ
รัฐมนตรี Ed Miliband ของอังกฤษ ชี้ประเด็นปัญหาในเรื่องนี้กับผู้สื่อข่าวว่า ยุโรปอยากลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกลงให้ได้ 30% ภายในปี ค.ศ. 2020 แต่ก็อยากเห็นประเทศอื่นๆ ให้พันธกรณีอย่างเดียวกันนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังจะมีปัญหา ในเรื่องการตรวจพิสูจน์ว่าได้ทำตามคำมั่นที่ให้กันไว้หรือไม่
ยุโรปได้ให้คำมั่นไว้ด้วยว่า จะให้ความช่วยเหลือทางการเงิน แก่ประเทศกำลังพัฒนาในเรื่องการจัดการกับบรรยากาศโลก เป็นเวลาสองปี ระหว่างปีค.ศ. 2010 จนถึง 2011 มูลค่าปีละ 3.6 พันล้านดอลล่าร์
ในวันจันทร์เดียวกันนี้ รัฐมนตรี Steven Chu ของกระทรวงพลังงานสหรัฐ ประกาศในที่ประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกนว่า สหรัฐจะเริ่มโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ในประเทศกำลังพัฒนา รัฐบาลสหรัฐจัดสรรเงินทุนไว้ สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นเงิน 350 ล้านดอลล่าร์
ในขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่าองค์การสหประชาชาติ จะถอยออกมาจากเป้าหมายที่กำหนดไว้แต่เดิมสำหรับการประชุมครั้งนี้ที่ว่า ที่ประชุมจะสามารถทำความตกลง ที่มีความผูกพันตามกฎหมายได้ภายในสัปดาห์นี้ เลขาธิการสหประชาชาติ นาย Ban Ki-moon กล่าวในวันจันทร์ว่า ถ้าได้ข้อตกลงอย่างจริงจังที่จะนำไปสู่สนธิสัญญา ที่มีความผูกพันตามกฎหมายได้ภายปีหน้า ก็ถือว่า การประชุมที่โคเปนเฮเกนครั้งนี้ประสบความสำเร็จ
เลขาธิการสหประชาชาติ วิงวอนขอให้ผู้แทนเจรจาในที่ประชุมเร่งรัดความพยายาม ก่อนที่บรรดาผู้นำของ 115 ประเทศ จะเดินทางไปถึงโคเปนเฮเกน ปลายสัปดาห์นี้ โดยให้ความเห็นว่า ถ้ารอให้บรรดาผู้นำประเทศไปแก้ปัญหากันในนาทีสุดท้าย ก็เป็นการเสี่ยงที่จะได้ข้อตกลงที่ไม่แข็งขัน หรืออาจจะไม่มีความตกลงกันเลยก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะเป็นความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่ทีเดียว
ขณะเดียวกัน กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ International Union for the Conservation of Nature เผยแพร่ผลงานวิจัยที่ระบุว่า มีสัตว์และพันธุ์พืชสิบชนิด ที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงจะสูญพันธุ์เพราะบรรยากาศโลกร้อนขึ้น
พันธุ์สัตว์ที่อยู่บัญชีรายชื่อดังกล่าว มีหมีโคล่า (Kaola) ในออสเตรเลีย ปลาการ์ตูน หรือ Nemo จากภาพยนตร์เรื่อง “Finding Nemo” สุนัขจิ้งจอกขั้วโลกเหนือ แมวน้ำพันธุ์ Ringed Seal และต้น Quiver พืชชนิดหนึ่งในทะเลทราย ในตอนใต้ของทวีปแอฟริกา รวมอยู่ด้วย