แม่น้ำลำคลองในกรุงจาการ์ต้า ต่างมีสีดำและส่งกลิ่นเหม็น ซึ่งมาจากขยะที่สะสมอยู่ตลอดเส้นทางที่แม่น้ำลำคลองไหลผ่านไป ขยะเหล่านั้นอุดตันทางเดินน้ำ และทำให้เกิดน้ำท่วมน้ำขัง เนื่องจากน้ำฝนไม่สามารถถ่ายเทออกจากกรุงจาการ์ต้าได้ ปัญหาที่ว่านี้ ยิ่งรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์
ฝนที่กระหน่ำลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา ในช่วงฤดูฝนที่อินโดนีเซีย ทำให้เกิดน้ำท่วมขังตามถนนและทางเดินน้ำต่างๆ ในกรุงจาการ์ต้า ซึ่งชาวจาการ์ต้าเองเป็นผู้ที่ทำให้ปัญหานี้เลวร้ายยิ่งขึ้น รายงานจากสำนักงานสุขาภิบาลกรุงจาการ์ต้าระบุว่า มีขยะเกิดขึ้นในกรุงจาการ์ต้าราว 6,300 ตันต่อวัน ในจำนวนนี้มีเพียง 5% ที่ถูกนำไปผ่านกระบวนการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ขยะส่วนใหญ่จึงถูกขนไปกองรวมกันที่ที่ทิ้งขยะ หรือถูกทิ้งลงตามถนนและในแม่น้ำลำคลอง ลงไปอุดตันทางเดินน้ำ เมื่อฝนตก น้ำจึงไม่ไปไหน แต่กลับมาเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนของชาวกรุงจาการ์ต้าเอง
คุณ Fitrian Ardiansyah ผู้อำนวยการโครงการสภาพภูมิอากาศ และพลังงานขององค์การด้านสิ่งแวดล้อม WWF กล่าวว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วม ต้องเริ่มจากการแก้ไขพฤติกรรมของชาวกรุงจาการ์ต้าเพื่อลดการบริโภค และเพิ่มกระบวนการนำขยะหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่มากขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดในกรุงจาการ์ต้า
ปัจจุบัน ขยะจากครัวเรือนมีปริมาณราว 60% ของสิ่งปฏิกูลทั้งหมดในกรุงจาการ์ต้า และในขณะที่พื้นที่ทิ้งขยะมีไม่เพียงพอ การกำจัดขยะทั้งหมดจึงเป็นภารกิจที่ไม่ง่ายเลย องค์การสิ่งแวดล้อม WWF จัดให้กรุงจาการ์ต้าเป็นหนึ่งในเมืองในเอเชีย ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เนื่องจากพื้นที่อยู่ในระดับต่ำ น้ำท่วมง่าย อีกทั้งจำนวนประชากรยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีขยะปริมาณมหาศาล
คุณ Hendra Aquan ผู้ประสานงานด้านพัฒนาชุมชนของกลุ่ม Jakarta Green Monster ที่ทำงานในด้านการรักษาพื้นที่ลุ่มน้ำในกรุงจาการ์ต้าระบุว่า ขยะที่ลอยมาตามแม่น้ำ Ciliwung ลอยไปติดตามป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งป้องกันน้ำท่วม ทำลายรากของต้นไม้และสร้างความเสียหายต่อแหล่งที่อยู่ของสัตว์หลายชนิด
คุณ Aquan บอกว่าสิ่งปฏิกูลเหล่านั้น มีตั้งแต่ชิ้นเล็กๆอย่างสไตโรโฟม ถุงพลาสติก รองเท้า ไปจนถึงเก้าอี้โซฟา เรียกว่าเป็นศูนย์การค้าสำหรับขยะได้เลย เวลานี้กลุ่ม Jakarta Green Monster กำลังทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้ชุมชนต่างๆ ช่วยกันเก็บขยะและทำความสะอาดพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งสร้างความตระหนักถึงความสำคัญ ของการลดการใช้ขวดน้ำและถุงพลาสติก ตลอดจนเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ว่าจะส่งผลกระทบต่อกรุงจาการ์ต้าอย่างไร และแม้นี่จะเป็นเพียงโครงการเล็กๆ แต่ผู้เข้าร่วมบางคนก็บอกว่า เป็นโครงการที่มีประโยชน์มาก
คุณ Dedi Wahyudi ผู้เข้าร่วมโครงการวันเก็บขยะกับกลุ่ม Jakarta Green Monster บอกว่าอย่างให้มีการจัดวันเก็บขยะนี้เป็นประจำ ซึ่งอาจเป็นทุกๆ 2 เดือน และว่าเรื่องการช่วยกันรักษาความสะอาดนี้ต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน แล้วคนอื่นๆ จะทำตามเอง