อิหร่านเสนอให้มีการแลกยูเรเนียม ที่ผ่านการเพิ่มคุณภาพแล้วแบบทำพร้อมๆ กันไปโดยอ้างเหตุผลว่าอิหร่านต้องการหลักประกันว่า ตนจะได้รับเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ตามที่สัญญากันไว้
ผู้สื่อข่าว วอยซ ออฟ อเมริกา อิลิซาเบธ อาร์รอทท์ (Elizabeth Arrott ) รายงานจากกรุงไคโรว่า ข้อเสนอที่ว่านี้ ขัดกับข้อเสนอขององค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ที่มีจุดมุ่งหมายจะประวิงหน่วงเหนี่ยวขีดความสามารถของอิหร่าน ในการแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์
ผู้แถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน รามิน เมห์มานปาราซท์ กล่าวว่า อิหร่านไม่ขัดข้องที่จะส่งยูเรเนียมคุณภาพต่ำ ไปเพิ่มคุณภาพในต่างประเทศ
แต่เขากล่าวในที่ประชุมแถลงข่าว ต่อสื่อมวลชนในวันอังคารว่า อิหร่านจะส่งยูเรเนียมที่ผ่านกระบวนการเพิ่มคุณภาพแล้วร้อยละ 3.5ภายใต้สภาพการณ์ที่อิหร่านสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับแท่งเชื้อเพลิงที่ผ่านการเพิ่มคุณภาพแล้ว 20 เปอร์เซ็นต์
เขากล่าวไว้ตอนนี้ว่า เงื่อนไขนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักประกันหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม ที่อิหร่านต้องการจะได้ และว่าการแลกดังกล่าวนั้น อิหร่านต้องการให้ทำกันในดินแดนอิหร่าน
คำแถลงที่ว่านี้ เป็นการบิดผันครั้งล่าสุด ในการเจรจาพาทีระหว่างประเทศ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายจะทำให้ประเทศต่างๆ ในโลก ซึ่งมีสหรัฐเป็นแกนนำ เกิดความมั่นใจว่าโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านนั้นมุ่งไปในทางสันติ อย่างที่อิหร่านยืนกรานไว้
องค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ต้องการให้อิหร่านส่งยูเรเนียมคุณภาพต่ำส่วนใหญ่ที่อิหร่านมีอยู่ไปที่รัสเซียแล้ว ก็ส่งต่อไปที่ฝรั่งเศส เพื่อให้มีการเพิ่มคุณภาพต่อไปอีกแล้วเปลี่ยนสภาพให้เป็นแท่งเชื้อเพลิง สำหรับใช้กับเตาปฏิกรณ์ด้านพลเรือน
จะมีการส่งแท่งเชื้อเพลิงกลับมาให้อิหร่านภายในเวลาราวๆ หนึ่งปี การประวิงเวลาดังกล่าวก็เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เจรจาจัดทำข้อตกลงที่แน่นหนากับอิหร่าน ที่ครอบคลุมรูปการทุกอย่างเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ข้อตกลงดังกล่าว จะทำให้อิหร่านปราศจากเครื่องมือที่สำคัญในการต่อรอง อันได้แก่ยูเรเนียมที่เก็บสะสมไว้จำนวนมากนั่นเอง
การแลกเปลี่ยนแบบหมูไปไก่มานี้ ดูเหมือนจะมิได้บ่อนเซาะข้อที่ว่านั้น แท่งเชื้อเพลิงที่ทำด้วยยูเรเนียมนี้นำไปผันแปรสำหรับใช้ทำอาวุธนิวเคลียร์ได้ยากยิ่ง
แต่ทว่าเรื่องนี้ ขัดต่อเจตนารมณ์ ของข้อเสนอขององค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ที่ได้รับการเสนอ ในฐานะเป็นเรื่องที่จะมาเจรจาต่อรองกันมิได้เมื่อเดือนที่แล้ว และนักการทูตฝ่ายตะวันตกพูดถึงเรื่องนี้ว่า เป็นสัญญาณที่ส่อถึงแนวโน้มที่ว่าอิหร่านจะถอนตัวจากการเจรจา 5 ประเทศภาคีถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และเยอรมนีกำลังพิจารณามาตรการต่างๆ ที่เข้มงวดเพื่อลงโทษอิหร่าน ฐานประวิงหน่วงเหนี่ยวการทำข้อตกลง แต่จีนและรัสเซียซึ่งมีความสัมพันธ์ด้านธุรกิจกับอิหร่าน อย่างเป็นกอบเป็นกำนั้นละล้าละลังใจ ในการที่จะลงโทษอิหร่านเพิ่มเติมอีก
ฟาร์สอันเป็นสำนักข่าวกึ่งทางการของอิหร่าน รายงานในวันอังคารโดยอ้างคำพูดของนายซาอีด จาลีลี ผู้เจรจาระดับสูงของอิหร่าน เกี่ยวกับเรื่องนิวเคลียร์ที่กล่าวพาดพิงถึงการขัดแย้งนั้นไว้ว่า หกชาตินี้ดูเหมือนกำลังเผชิญกับปัญหาภายใน และไม่พร้อมที่จะมาเจรจากันอีก ในขณะที่อิหร่านพร้อมที่จะมาเจรจาพาทีกันทุกเมื่อ