องค์การอนามัยโลกรายงานว่า การเสียชีวิตของคนทั่วโลก เกิดจากสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งคือการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในสามสาเหตุสำคัญๆ ที่ทำให้คนหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 25 ปีเสียชีวิต
เนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 10 กันยายน องค์การอนามัยโลกกล่าวว่ามีมาตรการที่ประชาชน และสังคมสามารถนำมาใช้เพื่อป้องกันมิให้คนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย
องค์การอนามัยโลกรายงานทุกปีว่า พลโลกราวหนึ่งล้านคนฆ่าตัวตาย หรืออีกนัยหนึ่งวันละ 3,000 ราย หรือ หนึ่งรายทุกๆ 40 วินาที องค์การอนามัยโลกรายงานด้วยว่าในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา อัตราการฆ่าตัวตายทั่วโลกเพิ่มขึ้น 60 เปอร์เซ็นต์และพยากรณ์ว่าภายในปีพุทธศักราช 2563 คนที่ฆ่าตัวตายจะมีจำนวนปีละหนึ่งล้านห้าแสนคน
องค์การอนามัยโลกรายงานด้วยว่า ผู้ที่เสียชีวิตเนื่องการฆ่าตัวตายนี้ มีจำนวนราวครึ่งหนึ่งของบรรดาผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรงทั้งหมดในโลก คือมีจำนวนมากกว่าผู้ที่เสียชีวิตจากการสงครามและจากการถูกฆาตกรรมรวมกันเสียด้วยซ้ำไป เกือบร้อยละ25
ของผู้ที่ฆ่าตัวตายนั้นเป็นวัยรุ่น และหนุ่มสาวที่อายุต่ำกว่า 25 ปี องค์การแห่งนั้นรายงานด้วยว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่ทว่าผู้หญิงที่พยายามฆ่าตัวตายมีจำนวนมากกว่าผู้ชาย
ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ อเล็กซานดรา ไฟลช์แมนน์ แห่งกองสุขภาพจิตและการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิด แห่งองค์การอนามัยโลกกล่าวไว้ตอนนี้ “แต่ละวัฒนธรรมก็มีปัจจัยเสี่ยงต่างกันไป เราทราบว่าปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญ ตามประเทศทางยุโรปก็คืออาการป่วยจากความผิดปรกติทางจิต อย่างเช่นภาวะซึมเศร้า หรือการเสพย์เครื่องดื่มเจือแอลกอฮอล์มากผิดปรกติเป็นต้น แต่ถ้าเราดูประเทศทางเอเชียแล้วจะเห็นว่าอารมณ์หุนหันพลันแล่น มีบทบาทสำคัญกว่า คือการฆ่าตัวตายอาจเกิดขึ้นโดยฉับพลันทันใด”
องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ข้อคิดเห็นและทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องการฆ่าตัวตายมีอิทธิพลต่อการที่คนจะพยายามฆ่าตัวตายหรือไม่ และการรายงานเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายนั้นเที่ยงตรงหรือเปล่า?
องค์การอนามัยโลกรายงานด้วยว่า การฆ่าตัวตายนั้นส่วนมากเกิดในเอเชีย คือมีจำนวนราวร้อยละ 60 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายทั้งหมด องค์การอนามัยโลกรายงานด้วยว่า ประเทศทางยุโรปตะวันออกมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดและประเทศยุโรปทางย่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ประเทศทางละตินอเมริกาและเอเชียที่ประชาชนส่วนใหญ่ นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิคและประเทศมุสลิม อย่างเช่น ปากีสถานนั้นมีอัตราการฆ่าตัวตายต่ำที่สุด
องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า การอบรมให้ความรู้แก่ชุมชนต่างๆ เพื่อให้ระบุได้ดียิ่งขึ้นว่าผู้ใดเสี่ยงต่อการที่จะฆ่าตัวตาย และส่งเสริมให้ผู้ที่เสี่ยงต่อการที่จะฆ่าตัวตายเหล่านั้น ไปหาความช่วยเหลือจะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายในหมู่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคจิตนั้นได้