ทางการจีนอนุญาตให้คู่สมรสส่วนมากในเมืองจีน มีบุตรได้คนเดียวมาเป็นเวลานานหลายสิบปีมาแล้ว แต่นโยบายของนครบางแห่งกำลังเปลี่ยนไป รายล่าสุดได้แก่นครเซี่ยงไฮ้ เหตุผลก็คือจีนต้องการได้คนวัยหนุ่มสาวมาช่วยดูแลพลเมืองจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่กำลังชราภาพลงอย่างรวดเร็ว
เมื่อมีผู้ถามคุณ กั๊วและภรรยา ซึ่งแต่งงานกันมาสิบปีแล้วว่าอยากมีบุตรกี่คน ทั้งคู่ตอบว่าอยากมีลูกคนหนึ่งหรือสองคนก็ได้ คุณกั๊วให้เหตุผลว่าการมีบุตรสองคน จะเป็นผลดีต่อสังคมและต่อประเทศชาติ และว่าแผนครอบครัวที่ใช้บังคับมานานคงจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมิได้ เขาคิดว่าชาวจีนรุ่นต่อไปอาจมีบุตรได้สองคน
ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากร และคู่สมรสชาวจีนจำนวนมากคิดว่าข้อจำกัดที่ให้มีบุตรแค่คนเดียว ซึ่งมีผลใช้บังคับมาหลายสิบปีแล้วนั้นล้าสมัยไปเสียแล้ว มีสัญญาณส่อว่ารัฐบาลเริ่มจะเห็นด้วย และมีรายงานว่าทางการคลายความเข้มงวดในการใช้กฎดังกล่าวลง เมื่อเร็วๆ นี้ เทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ส่งเสริมให้คู่สมรสบางส่วนมีบุตรสองคน
นักการศึกษา โซฟี หลี จากกรุงปักกิ่ง ผู้มาทำวิจัยเกี่ยวกับนโยบายภาครัฐ อยู่ที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่า ในชั้นแรก นโยบายให้มีบุตรได้คนเดียว ช่วยให้จีนแก้ไขปัญหาด้านการที่ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากมีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว ตลอดจนการสุขาภิบาลและการแพทย์ก็กระเตื้องดีขึ้น แต่เมื่อเวลาล่วงไปนโยบายให้มีบุตรได้คนเดียว ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาว่าปู่ย่าตายายทุกๆ สี่คนนั้น จะมีบิดามารดา 2 คน และบุตรหนึ่งคนคอยช่วยเหลือ คุณโซฟี หลี กล่าวว่า ขณะที่ประชากรจีนแก่ตัวลง จีนจะมีคนงาน และคนหนุ่มสาวสำหรับมาดูแลคนสูงอายุน้อยลง ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของสังคม ที่รัฐบาลต้องการให้มีนักมีหนานั้นอย่างรุนแรง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เจมส์ เวียร์แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวไว้ตอนนี้ว่า " ถ้ามีคนหนุ่มสาวแค่คนเดียว มาคอยสนับสนุนค้ำจุนผู้สูงอายุสามหรือสี่คน ก็อาจจะแบกภาระดังกล่าวตลอดไปไม่ไหว "ท่านอาจารย์คิดว่าประชากรจีนที่กำลังแก่ตัวลง อาจเป็นภัยคุกคามต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและ เศรษฐกิจของจีน ซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่ ติดอันดับที่สามของโลกได้
เทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ ต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว โดยกำลังจะส่งเสริมให้คู่สมรสมีบุตรสองคนถ้าหากสามี และภรรยาต่างก็เป็นบุตรคนเดียวของครอบครัว เหตุผลก็คือ คนวัย 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนร้อยละ 22 ของประชากรในนครเซี่ยงไฮ้ และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะสูงขึ้นเป็น 34 เปอร์เซ็นต์ ภายในปีพุทธศักราช 2563
แต่นโยบายให้มีบุตรได้คนเดียวของจีน ไม่ใช้บังคับที่ฮ่องกง ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน แต่ทว่ามีคู่สมรสอย่างเช่นคุณเรย์ เหยียนและภริยาที่คิดว่าการเลี้ยงบุตรในเมืองจีน และที่ฮ่องกงเสียค่าใช้จ่ายสูง
ถึงแม้ว่า ทางนครเซี่ยงไฮ้ จะเปลี่ยนนบายในเรื่องนั้นเมื่อเร็วๆ นี้ก็ตาม แต่รัฐบาลจีนยังไม่แสดงท่าทีว่าจะยกเลิกนโยบายดังกล่าวโดยสิ้นเชิงในอนาคต
สหประชาชาติ และองค์การอื่นๆ กะประมาณว่าถ้ายังดำเนินนโยบายดังกล่าวต่อไป ประชากรในเมืองจีนจะเริ่มลดลงแถวๆ ปีพุทธศักราช 2573 ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ภายในปีพุทธศักราช 2593 ร้อยละ 33 ของประชากรจีน จะเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และคนในวัยทำงานจะมีอยู่แค่ 48 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น