คนส่วนใหญ่ตระหนักกันดี ในเรื่องอันตรายจากการได้รับควันบุหรี่ แม้จะไม่ได้สูบบุหรี่เองที่เรียกว่า “ควันบุหรี่มือสอง” โดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ และคนที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง อย่างโรคหัวใจและโรคปอด เรื่องนี้ทำให้มีการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และนโยบายอากาศสะอาดภายในสถานที่ต่างๆ
มาตอนนี้ มีผลการวัจัยใหม่ว่า การสัมผัสกับควันบุหรี่โดยอ้อม ซึ่งมีศัพท์ใหม่ว่า “ควันบุหรี่มือสาม” ก็เป็นเรื่องน่าวิตกด้วย
ผลการศึกษาของคณะนักวิจัยที่ Massachusetts General Hospital ในนครบอสตันเตือนถึงอันตรายของ “ควันบุหรี่มือสาม” ต่อสุขภาพเด็ก
นักวิจัยอธิบายว่า ควันบุหรี่ที่ผู้สูบสูดเข้าไปนั้น จัดว่าเป็น “ควันบุหรี่มือหนึ่ง” ส่วนควันที่คละคลุ้ง จากบุหรี่ที่เผาไหม้อยู่รวมกับควันที่ผู้สูบพ่นหรือหายใจออกมานั้น จัดเป็น “ควันบุหรี่มือสอง” ล่าสุด นักวิจัยจัดให้อนุภาคละอองไอสารเคมีที่เป็นพิษ จากควันบุหรี่หรือยาสูบที่ตกค้าง เกาะติดอยู่ตามสิ่งต่างๆ ในสถานที่ที่มีการสูบบุหรี่ แม้บุหรี่จะดับมอดไปแล้วเป็น “ควันบุหรี่มือสาม” ซึ่งจะรู้สึกได้จากกลิ่นที่ยังอบอวลอยู่ในห้อง หรือจากตัวผู้สูบเอง
นักวิจัยพบว่า อนุภาคละอองไอสารเคมีที่เป็นพิษ จากควันบุหรี่ที่ตกค้างเกาะติดอยู่ตามเสื้อผ้า เส้นผม ผ้าม่าน ตามม่าน พรม เบาะ หรือสิ่งของต่างๆ ในที่ที่มีการสูบบุหรี่นั้น มีเป็นปริมาณมากพอวัดได้เลยทีเดียว และยังตกค้างอยู่ได้เป็นเวลานาน และสามารถหลุดลอยกลับออกมาอยู่ในอากาศในบริเวณนั้นได้อีก
ตามรายงานของ Mayo Clinic นั้น อนุภาคละอองไอจากควันบุหรี่ ก่อตัวจากแก๊ซสารอันตรายมากกว่า 200 ชนิด ซึ่งหลายชนิดเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งอย่างเช่น ไซยาไนด์ คาร์บอนมอนนอกไซด์ แอมโมเนีย บิวเทน และโปโลเนียม 210 และนักวิจัยกล่าวว่า ที่เป็นอันตรายที่สุดคือไซยาไนด์
นอกจากนั้น งานวิจัยใหม่พบว่า ในคนที่สูบบุหรี่นั้น สิ่งตกค้างจากควัน จะยังคงอยู่ในปอดหลังจากการสูดควันครั้งหลังสุด และยังปล่อยสารพิษ จากการเผาไหม้ยาสูบในควันออกมากับลมหายใจอีก 2-3 นาทีหลังจากนั้น ซึ่งถ้าหากไปอยู่ในที่ที่ไม่มีการสูบบุหรี่ทันที หลังเสร็จการสูบและดับบุหรี่ ลมหายใจออกจากผู้นั้น ก็ยังทำให้มีอนุภาคไอละอองออกมาเกาะติดตกค้าง อยู่ตามพื้นผิวของสิ่งต่างๆ โดยรอบได้
นักวิจัยกล่าวว่า การทำให้บ้าน และรถยนตร์ปลอดควันบุหรี่จ ะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันคนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กๆ จากอันตราย และหากจะให้ปลอดภัย ผู้สูบบุหรี่ควรรอสัก 2-3 นาทีหลังสูบเสร็จ ก่อนที่จะไปอุ้มหรือเข้าใกล้สัมผัสแตะต้องเด็ก หรือก่อนกลับเข้าไปยังที่ที่ปลอดควันบุหรี่
นักวิจัยบอกว่า เด็กๆ ซึมซับฝุ่นละอองมากกว่าผู้ใหญ่สองเท่า